เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมสื่อสัญจรออนไลน์ โครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบ Video Conference
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปี 2562 จังหวัดอุบลราชธานี ประสบปัญหาอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชุมชนในหลายอำเภอ ประกอบกับในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กรมชลประทาน ได้วางแผนศึกษาแนวทางการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาถึงสภาพพื้นที่และระบบลำน้ำที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียงและระบบลุ่มน้ำหลัก
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม 2563-สิงหาคม 2564 กรมชลประทาน ได้ศึกษาและประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการฯ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ การประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ และกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน และร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกด้าน
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี มีขอบเขตการศึกษาคลอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ในลุ่มน้ำชีตอนล่างและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และร้อยเอ็ด โดยการก่อสร้างคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีจุดรับน้ำ 2 ทาง คือ จุดรับน้ำที่ 1 จากห้วยขะยุง (เหนือเขื่อนหัวนา) และจุดรับน้ำที่ 2 จากแม่น้ำมูล (ท้ายเขื่อนหัวนา) จากนั้นจะระบายน้ำกลับลงสู่แม่น้ำมูลผ่านทางห้วยกว้าง ท้ายแก่งสะพือ รวมระยะทางคลองผันน้ำกว่า 96 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้รวมกันประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที
ปัจจุบันโครงการศึกษาฯ อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มค่า พร้อมทั้งสำรวจและออกแบบเบื้องต้นของโครงการฯ ทั้งนี้ หากโครงการศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ จะได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียด และดำเนินการชดเชยทรัพย์สินตามแนวคลองส่งน้ำ เพื่อเตรียมการก่อสร้างต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี และจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ทั้งหมดประมาณ 7 ปี หากโครงการฯ แล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลตอนล่างได้ในระยะยาว