ในอนาคตคุณค่าของบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อจะไม่ใช่แค่การปกป้องสินค้าหรือนำพาสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอีกต่อไป เพราะสังคมโลกต่างให้ความสำคัญกับการปกป้องโลกใบนี้ คิดค้นทุกวิธีในการลดภาระให้กับโลก จนเกิดเป็น “Circular Economy” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน กลายเป็นแกนสำคัญของการดำเนินธุรกิจในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน
โดยในพิธีเปิด “กิจกรรมส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการระบบหีบห่อ และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Circular Packaging towards BCG ภายใต้แนวคิด The Future is Circular หนึ่งในโครงการส่งเสริมสินค้านวัตกรรมและแนวคิดสร้างสรรค์ภายใต้กรอบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) สู่สากล จัดโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์มาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการระบบหีบห่อ และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการไทย
นายสินชัย เทียนสิริ ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล (GS 1) อดีตผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เล่าว่า ในยุคแรกบรรจุภัณฑ์ถูกใช้สำหรับการนำสิ่งของไปในพื้นที่ต่างๆ สำหรับการเดินทางไกล หรือการนำไปฝากผู้คน โดยเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง (Linear Economy) เนื่องจากทรัพยากรยังมีเพียงพอ จนมาถึงยุคก่อให้เกิดปัญหาขยะจึงเป็นการใช้แล้วนำไปรีไซเคิล (Recycle Economy) แต่กระบวนการนี้ย่อมมีต้นทุน หากพิจารณาแล้วว่าสิ่งนั้นไม่คุ้มค่าก็จะถูกทิ้งภาระให้โลกบำบัดต่อไป จนปัจจุบันเองเมื่อทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้เกิดแนวคิด 3R คือ Reduce ลดการใช้วัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ หรือใช้วัสดุชีวภาพให้มากที่สุด สามารถนำมา Reuse หรือนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด คำนึงถึงการใช้ฟังก์ชั่นอย่างพอเหมาะ ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น และเมื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้มากที่สุดแล้วจึงนำไป Recycle ต่อไป
โดยการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ดีนั้นทุกภาคส่วนต้อง Collaboration กัน ร่วมคิด ร่วมทำ และรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือภาครัฐอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ต้องคิดวงจรให้จบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง อย่ามองแค่ฟังก์ชั่นการปกป้องสินค้า แต่จะทำอย่างไรให้ปกป้องสินค้าและปกป้องโลกได้ด้วย ตั้งแต่เริ่มออกแบบว่าผลิตจากวัสดุชีวภาพได้หรือไม่ ลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้วจะสามารถใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆได้อย่างไรบ้าง หลังจากใช้เต็มประสิทธิภาพแล้วจะนำไปทำอย่างไร ไปส่งที่ใดเพื่อรีไซเคิล ผู้ผลิตควรมีรายละเอียดระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์เลยเช่น พิมพ์บนกระดาษห่อหมากฝรั่งว่าใช้แล้วนำกระดาษนั้นห่อหมากฝรั่งก่อนทิ้ง การระบุไปบนเนื้อแก้วเลยว่ารีไซเคิลได้ หรือเพิ่มรายละเอียดว่าสามารถนำไปส่งรีไซเคิลที่ไหนได้ เพราะขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก บางประเทศกำหนดเป็นมาตรการการนำเข้าสินค้าเลยทีเดียว ในอนาคตประเด็นนี้อาจจะกลายเป็นกำแพงทางการค้าได้
นายทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทย (ATSI) ได้ให้ข้อคิดเห็นสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็น Smart Packaging ที่สร้างคุณค่าเพิ่มมากกว่าการบอกข้อมูลสินค้า เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ของธุรกิจและต่อผู้บริโภคว่า Smart Packaging นั้นมี 2 ประเภทคือ Active Packaging มักใช้กับสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งจะช่วยยืดอายุบนชั้นวางสินค้าให้ยาวนานขึ้น เช่น การใช้วัสดุที่ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย วัสดุนั้นสามารถดูดซับออกซิเจนได้ ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร หรือฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเลือดหมู ก็จะช่วยรักษาคุณภาพของอาหาร อุณหภูมิ การป้องกันน้ำต่างๆ และ Intelligent Packaging เพื่อสื่อสารกับลูกค้า เช่น สื่อสารด้วยตัวชี้วัด (Indicator)ที่เป็นสี เพื่อบอกถึงความสด ความสุก สำหรับการรับประทาน เพื่อเก็บข้อมูล ทั้งการให้และรับข้อมูลด้วย QR Code, RFID หรือ NFC และเพื่อส่งเสริมด้านการตลาด ช่วยสร้างประสบการณ์กับผู้บริโภค หรือกิจกรรมร่วมสนุกต่างๆ ดังเช่นที่ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตออแกนิคแบรนด์ YEO จากประเทศอังกฤษ มี QR Code บนกล่องผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นวิดีโอเรื่องราวที่มีภาพ เสียง ซึ่งน่าสนใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า
ส่วนแบรนด์ระดับโลกอย่างเนสท์เล่ (Nestlé) ที่ได้เริ่มปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อลดภาระของโลกแล้วในหลายๆประเทศ นายจิรพัฒน์ ฐานสันโดษ Market Packaging Manager, Indochina บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย จำกัด เล่าว่า เนสท์เล่ มีความมุ่งมั่นทางด้านสิ่งแวดล้อม 2 เรื่องคือ ลดการสร้างมลพิษต่อโลกให้ได้ 100% ในปี 2050 และเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของสินค้าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยในข้อสองนี้ได้แบ่งออกเป็น 5 แนวทางการดำเนินงาน คือ
Reduce ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นและลดปริมาณพลาสติกมากเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนักหรือขนาดของบรรจุภัณฑ์ หรือการกำจัดส่วนประกอบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค เช่น การปรับขวดน้ำเป็นรูปแบบใหม่ ตัดสีฟ้าอ่อนบนขวดที่เป็นภาพจำของแบรนด์ออก เลิกใช้พลาสติกซีลที่ฝาขวด หรือการลดใช้สีที่ฝาถ้วยไอศกรีมเพื่อรีไซเคิลง่ายขึ้น
Reuse & Refill ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบของการใช้แล้วทิ้ง
Alternative Materials การหาวัสดุทดแทนอื่นๆที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เช่น ซองช็อคโกแลต smarties เปลี่ยนจากพลาสติกเป็นกระดาษ ถุงบรรจุเนสกาแฟที่เคยเป็นพลาสติกก็เปลี่ยนเป็นถุงกระดาษ เปลี่ยนซองกาแฟเป็นการใช้วัสดุที่เมื่อเผาแล้วหลอมละลายเป็นก้อนเดียวกัน ไม่สร้างภาระแก่โลก เครื่องดื่มไมโลแบบกล่องเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษ เปลี่ยนกระป๋องกาแฟเป็นอลูมิเนียม 100% และซองไอศกรีมเป็นซองกระดาษ เป็นต้น
Infrastructure การมองหาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อให้บรรจุภัณฑ์มีการนำไปรีไซเคิลอย่างจริงจัง
Behavior Change การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของเนสท์เล่ ทั้งด้าน การส่งเสริม การโปรโมท การให้ความรู้ เพื่อนำไปสู่การแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิด Circular Economy ที่แท้จริง เช่น ทุกปีที่เนสท์เล่จัดกิจกรรมชิงโชค จะได้รับซองกาแฟเป็นจำนวนมาก ก็จะนำไปทำเป็นโต๊ะเทียมเพื่อบริจาคให้กับโรงเรียนต่อไป การนำขวดน้ำดื่ม (Pet) มาทำเป็นเสื้อเพื่อแจกให้กับพนักงาน หรือการเข้าไปให้ความรู้ในโรงเรียนเกี่ยวกับการคัดแยกและจัดเก็บกล่องนมยูเอชทีที่ถูกวิธี และการส่งเสริมให้ความรู้พนักงานด้วยกิจกรรม Beach Cleaning เพราะเชื่อว่าพนักงานก็คือผู้บริโภคคนหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปส่งต่อให้กับครอบครัวและคนอื่นๆได้
“หลายครั้งที่เมื่อแบรนด์เลือกใช้วัสดุทางเลือกอื่นแล้วทำให้ราคาสูงขึ้น แต่ก็ยังเดินหน้าไปต่อเพราะมองไปถึงประโยชน์แท้จริงที่ทั้งโลกจะได้รับ และการมองหาวัสดุใหม่ๆ นั้นยังเป็นความท้าทายซึ่งผู้ประกอบการจะต้องคำนึงเสมอว่าหากเปลี่ยนแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมได้ ส่วนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ควรคิดถึงปลายทางสุดท้ายเสมอ ในยุคก่อนๆ จะมองแค่ความชอบของผู้บริโภคหรือการขายสินค้า แต่ตอนนี้สิ่งที่ทำทุกครั้งคือจะสอบถามไปยังผู้รับซื้อขยะหรือผู้รีไซเคิลว่าถ้าออกแบบแบบนี้จะถูกคัดแยกง่ายไหม นำไปรีไซเคิลได้ไหม ที่สำคัญคือองค์กรต้องรวดเร็วในการรับฟีดแบคจากผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าหลังจากเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และนำมาปรับให้เร็วที่สุด”
เมื่อการดูแลและปกป้องโลกเป็นปัจจัยสำคัญของการบริโภคสินค้าทั่วโลกในขณะนี้ ผู้ส่งออกไทยควรเรียนรู้และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และหีบห่อให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แม้จะต้องใช้เวลาและงบประมาณในการเริ่มต้น แต่ผลที่ได้รับคือธุรกิจจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว และส่งออกได้อย่างยั่งยืน