นายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้สนองพระราชดำริ ฯ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์ทุเรียนคลองแสง คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ได้ศึกษาการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมทุเรียนคลองแสง การศึกษาสายพันธุ์ทุเรียนและวิถีชีวิตชุมชนบ้านเขา เทพพิทักษ์เพื่อการรักษาสายพันธุ์ทุเรียนคลองแสง ศึกษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทุเรียนคลองแสง การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมทุเรียนคลองแสง การศึกษาวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ การศึกษาวิจัยด้านการเขตกรรมให้ผลผลิตและผลิตผลมีคุณภาพ มาตรฐานตามหลักเกณฑ์สากล การศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์โดยวัสดุเหลือใช้จากทุเรียนมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นงานที่กองบริการวิชาการการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ต้องดำเนินการต่อยอดให้บรรลุเป้าหมายและให้ทุเรียนคลองแสงติดอันดับความต้องการของทุเรียนผู้บริโภคในกลุ่มทุเรียนพื้นบ้าน นายธิติ พานวัน อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้รับผิดชอบโครงการศึกษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาทุเรียนคลองแสง กล่าวว่าได้ดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูล พบว่าทุเรียนคลองแสง เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว ต้นทุเรียนคลองแสงมีอายุ 100 ปี มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จากการศึกษาภูมิปัญญาละวัฒนธรรมทุเรียนคลองแสงพบว่า มีทุเรียนพื้นบ้านที่มีอายุ กว่า 100 ปี ได้แก่ พันธุ์ป่ามิ้น มุมไฟ หยุมคา พรุ้งพริ้ง ฝอยทอง ก้านเพชร สี่ขา หมอนอาย สาวนุ้ย ค้ำคาง ตอแดน มังคุด สีลานและต่อหนุน ซึ่งทุเรียนพื้นบ้านเหล่านี้ มีรสชาติหวานมัน เนื้อหนา สีเหลืองทองสวยน่ารับประทาน และมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างจากทุเรียนพื้นเมืองทั่วไป ทำให้ทุเรียนคลองแสง เป็นทุเรียนพื้นเมืองที่มีชื่อของอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนเขาเทพพิทักษ์ โดยมีนายฤทธิรงค์ ฤทธิกุล เป็นประธาน มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชุมชนเป็นจุดขายเช่นในเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่ทุเรียนเริ่มสุก มีการจัดงาน“เทศกาลเรียนหลน” นอกจากนี้ยังมีผลไม้อีกนานาชนิด ซึ่งปลูกผสมผสานในสวนทุเรียน ได้แก่ มังคุด ลองกอง เงาะ นอกจากนี้ยังมีข้าวหลามปลายอก ปลาส้ม ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่น นอกจากนี้ยังมีการนำทุเรียนพื้นบ้านมาเพิ่มมูลค่า เช่นการทำทุเรียนกวน ดอกทุเรียนชุบแป้งทอด การนำเนื้อทุเรียนดิบมาแกง การนำเปลือกทุเรียนมาทำปุ๋ยอินทรีย์ การใช้เปลือกทุเรียนเผามาใช้เป็นปุ๋ยเป็นการเพิ่มธาตุโปแตสเซี่ยมในดิน การใช้ใบทุเรียนเป็นพืชสมุนไพรในการขับพยาธิ การเพาะเมล็ดพันธุ์ทุเรียนและการขยายพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองโดยการเสียบยอด ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมทุเรียนคลองแสง ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและถ่ายทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังเพื่อสืบทอดทรัพยากรวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า สืบไป