นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาการไฟฟ้านครหลวง ครบ 63 ปี วันที่ 1 สิงหาคม 2564 นี้ MEA มีภารกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในทุกมิติ ภายใต้แนวทาง “63 Year MEA Stay Strong เข้มแข็ง…แล้วไปต่อด้วยกัน” ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวต่อไปว่า MEA เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ถือเป็นการไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยในปีที่ 63 นี้ MEA พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องให้มีความเพียงพอ มั่นคงปลอดภัย สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของเมืองมหานคร ทั้งภารกิจการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Metro Grid) ขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ส่งเสริมโครงการ Solar Rooftop รวมถึงพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ทันสมัยในอนาคตรองรับการเป็นมหานครอัจฉริยะ "Smart Metro" สู่การเป็น Smart City ตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ COVID-19 โดยมีภารกิจเร่งด่วนออกแบบติดตั้งจัดการระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงพยาบาลสนาม ทั้งในด้านระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบปั๊มน้ำและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ และแผนรองรับการจ่ายไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการให้กับโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ เช่น รพ.สนามศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา (เอราวัณ 2) รพ.สนามพลังแผ่นดิน รพ.สนามสมุทรปราการรวมใจ 5 (WHA) รพ.สนามราชพิพัฒน์ ศูนย์พักคอยตันปัน เป็นต้น นอกจากนี้ MEA ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ทุกภาคส่วนโดยสนับสนุนงบประมาณการบริหารจัดการพลังไฟฟ้าให้กับ รพ.บุษราคัม ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของจำเป็นให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ต่าง ๆ ส่งมอบอาหารกล่องจำนวน 100,000 กล่อง ในโครงการ Food For Fighters รวมถึงการเร่งลงพื้นที่ส่งมอบถุงยังชีพและหน้ากากอนามัยจำนวนกว่า 300,000 ชิ้น ให้แก่ชุมชนในพื้นที่บริการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะเดียวกัน MEA ยังพร้อมสนับสนุนหน่วยงานฯ โรงพยาบาลสนามทุกแห่ง โดยเฉพาะในด้านระบบไฟฟ้า พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและให้บริการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าจากผลกระทบ COVID-19 นั้น ล่าสุด MEA ได้ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าประจำเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2564 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับส่วนลดโดยอัตโนมัติ โดยสามารถตรวจสอบค่าไฟฟ้าและสิทธิ์ส่วนลดในแต่ละรอบเดือนได้ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า MEA Smart Life Application หรือผ่าน Line : MEA Connect อีกทั้ง ยังมีมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 -7 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนธันวาคม 2564 อีกด้วย นอกจากนี้ MEA มีมาตรการผัดชำระค่าไฟฟ้าโดยขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดต่อเพื่อแจ้งความประสงค์ อีกทั้ง อำนวยความสะดวกให้ชำระค่าไฟฟ้าบางบิลผ่านระบบออนไลน์ผ่านช่องทาง MEA Smart Life Application หรือช่องทาง MEA e-Service เว็บไซต์ https://eservice.mea.or.th โดยนำรหัส QR Code/Barcode ไปชำระผ่านระบบ Internet Banking (ไม่จำกัดวงเงิน) หรือ ชำระได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้าน 7-Eleven (จำกัดวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท) ในด้านงานบริการ MEA มุ่งมั่นพัฒนานำเทคโนโลยี มาปรับใช้ในการทำงานทั้งภายใน และให้บริการภายนอกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องด้วย MEA Smart Service โดยพัฒนาเว็บไซต์ www.mea.or.th รวมถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น MEA Smart Life Application หรือ Line MEA Connect ที่สามารถตรวจสอบและชำระค่าไฟ แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง อีกทั้งยังมีบริการด้านไฟฟ้าออนไลน์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้วยระบบ MEASY รวมทุกบริการทั้งขอติดตั้งไฟฟ้าใหม่ ขอติดตั้งไฟฟ้าเพิ่มชั่วคราว ขอเพิ่ม-ลดขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ตลอดจนการของดการใช้ไฟฟ้าชั่วคราวก็สามารถรับบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้พัฒนาระบบให้เป็นช่องทางในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อีกด้วย นอกจากนี้ MEA ยังได้ปรับเปลี่ยนงานบริการต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบ New Normal ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพงานบริการต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสกระดาษ โดยเฉพาะบริการ MEA e-Bill ให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารับเอกสารในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง SMS หรือ Email เพื่อลดการใช้กระดาษ พร้อมช่องทางการติดต่อ ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter : @mea_news, Instagram : meafanclub และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ตลอด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้ไฟฟ้ายุคใหม่อีกด้วย ในด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม ปี 2564 เท่ากับ 50,558.43 ล้านหน่วย (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 2564) โดย MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 100 มีสถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 จำนวน 9,525.93 เมกะวัตต์ และได้พัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ส่งผลให้มีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIFI) เท่ากับ 0.414 ครั้ง/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน และระยะเวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIDI) เท่ากับ 13.349 นาที/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน (ข้อมูลสะสมถึงเดือน มิถุนายน 2564) นอกจากนี้ MEA ยังคงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจตามแผนงาน โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 29 โครงการ ระยะทางรวม 187.5 กิโลเมตร ตัวอย่างเช่น โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-เหลือง-ส้ม-เขียว-ชมพู-ม่วง ถนนพระรามที่ 3 ถนนรัชดาภิเษก ถนนวิทยุ ถนนพหลโยธิน ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนอรุณอมรินทร์ ถนนพรานนก ถนนบรมราชนนี ถนนวงศ์สว่าง และถนนนครอินทร์ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอันเนื่องมาจากรถชน/เกี่ยวเสาไฟฟ้าล้ม หรือจากภัยธรรมชาติ พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพให้เกิดความเป็นระเบียบ เรียบร้อยและสวยงาม อีกทั้ง ล่าสุด MEA ได้เปิดใช้งานสถานีต้นทางบางซื่อ พร้อมส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้ารองรับสถานีกลางบางซื่อและโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รวมถึงรองรับการใช้ไฟฟ้าพื้นที่เมืองมหานครในอนาคต เพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รับเทรนด์การเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกด้วย ในส่วนการพัฒนาระบบไฟฟ้าไปสู่การเป็นมหานครอัจฉริยะนั้น MEA ได้ดำเนินโครงการ Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับเมืองมหานคร ซึ่งเป็นโครงข่ายสำหรับการส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบดิจิทัลครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีสมาร์ทมิเตอร์วัดพารามิเตอร์ด้านไฟฟ้าที่จ่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าและหม้อแปลงจำหน่าย ร่วมกับระบบบริหารจัดการที่มีการรับส่งข้อมูลได้แบบสองทาง (Two-way Communication) มีคุณสมบัติในการ Monitor และแสดงผลได้ทันที (Real-time) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้าในภาวะวิกฤตด้านพลังงาน และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์บริเวณที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น ในส่วนการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด นั้น ล่าสุด MEA ได้ดำเนินการส่งมอบเครื่องอัดประจุไฟฟ้า MEA EV Chargerในโครงการศึกษาวิจัย MEA EV Smart Charging System จำนวน 50 เครื่อง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้กับผู้ผ่านการคัดเลือกในเขตพื้นที่ให้บริการ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งพร้อมใช้งานให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MBK CENTER, CP Tower และ Riverine Place Condominium เป็นต้น รวมถึงมีความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด หรือ EA ในการพัฒนาระบบการให้บริการและขยายแผนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่ของ บริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถชาร์จผ่าน QR Code ที่สถานีฯ หรือผ่าน MEA EV Application ได้ทันที นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ วิจิตรา ดิเวลลอปเม้นท์ ให้บริการออกแบบติดตั้งระบบไฟฟ้าใต้ดินโครงการ เธอ ลาดพร้าว 93 เป็นการให้บริการในรูปแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One-Stop Service) รวมถึงติดตั้ง EV Charging Station ในโครงการฯ เพื่อยกระดับความมั่นคง ปลอดภัย ระบบไฟฟ้าหมู่บ้านจัดสรรแบบครบวงจร ซึ่งผู้ประกอบการหมู่บ้านจัดสรรที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลและรับบริการในรูปแบบดังกล่าวได้ สำหรับด้านพลังงานสะอาด MEA พร้อมขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ ส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ภายในบ้านอยู่อาศัย อาคารหรือสถานประกอบการ ในเขตพื้นที่ให้บริการ ซึ่งหากต้องการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าต้องขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของ MEA เพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกัน MEA ยังมีโครงการช่างไฟฟ้ามืออาชีพ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมยังมีโอกาสได้รับการอบรมการติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EV Charger รวมถึงร่วมให้บริการด้านไฟฟ้าแบบครบวงจรผ่าน Application MEA e-Fix เสริมสร้างรายได้เป็นเครือข่ายตัวแทน MEA ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในด้านการบริหารองค์กร MEA ได้รับรางวัล Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) 2021 Regional Edition ในสาขา Master Entrepreneur Award ในฐานะผู้นำองค์กรที่มีความมุ่งมั่นและสามารถสร้างความเติบโตทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสาขา Inspirational Brand Award ที่มอบให้กับองค์กรชั้นนำที่มีความโดดเด่นในด้านการบริหารงานอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมจนได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ MEA ยังได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กร ระดับ AAA แนวโน้มอันดับเครดิต Stable ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่องโดยทริสเรทติ้ง สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญในฐานะรัฐวิสาหกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงนโยบายทางการเงินที่รอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียว (Green Office) ระดับประเทศ ตามโครงการส่งเสริมสำนักงานสีเขียว (Green Office) ประจำปี 2563 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ MEA ได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ซึ่งตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินงานที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ในวันนี้ MEA ยังคงมุ่งมั่นภารกิจสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต ด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอ มั่นคง และปลอดภัย ซึ่ง MEA มีความพร้อมที่จะรับมือ และสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนทุกคนให้สามารถผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ โดย MEA พร้อมที่จะให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป