ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างยาวนาน ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามสัตว์เศรษฐกิจและเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากตลาดสดและร้านอาหารที่เคยมารับซื้อกุ้งหลายแห่งปิดตัวลง ขณะที่เลขานุการสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ระบุ ซบเซาหนักสุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะช่วงโควิดจากที่เคยนำส่งวันละ 1 ตัน บางวันไม่มีออร์เดอร์เข้ามาแม้แต่ ก.ก.เดียว วอนรัฐบาลเยียวยาด้านต้นทุนการผลิตและหาตลาดจำหน่าย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันส่งผลกระทบกับประชาชนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอาการขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ โดยเกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพกันมาประมาณ 30 ปี และปัจจุบันได้รับน้ำจากคลองชลประทานเขื่อนลำปาว ทำให้สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี แต่สำหรับปีนี้กลับซบเซาหนักสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากตลาดต่างๆในหลายพื้นที่และร้านอาหารที่รับซื้อปิดตัวลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กุ้งก้ามกรามไม่สามารถส่งไปขายได้ตามปริมาณปกติ และต้องเลี้ยงไว้นานขึ้นทำให้สิ้นเปลืองและแบกรับค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารกุ้ง นายวีรชาติ ภูโปร่ง เลขานุการสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ บ้านโปร่งแค ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งที่เข้ามารวมกลุ่มเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ และรายย่อยทั่วไปมีอยู่ประมาณ 1,200 ราย พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ หรือประมาณ 2,000 บ่อ โดยจะจำหน่ายที่ปากบ่อราคา ก.ก.ละ 250 บาท ที่ผ่านมามีเงินสะพัดกับเกษตรกร และสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่มาระยะหลังตั้งแต่ปี 2563 ช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยอดขายเริ่มลดลงมาเรื่อยๆตามลำดับ จนมาถึงปี 2564 และปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิดกำลังระบาดหนักทั่วประเทศยอดขายลดลงอย่างมาก เพราะไม่สามารถส่งขายได้ตามปกติ ทั้งนี้สำหรับกลุ่มสมาชิกแปลงใหญ่ จากเดิมเคยส่งกุ้งให้กับลูกค้าตามร้านอาหารและตลาดสดทั่วไปในภาคอีสานและสปป.ลาว เฉลี่ยวันละ 500 ก.ก. และหากรวมกับเกษตรกรรายย่อยอื่นๆจะสามารถส่งขายได้ไม่น้อยว่าวันละ 1 ตัน แต่ปัจจุบันลดเหลือเพียงวันละ 200 ก.ก. เท่านั้น บางวันไม่มีออร์เดอร์เข้ามาและไม่ลูกค้าสั่งซื้อแม้กิโลกรัมเดียว เนื่องจากตลาดและร้านอาหารปิด เพราะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นายวีรชาติ กล่าวอีกว่า จากผลกระทบด้านตลาดดังกล่าวแล้วสถานการณ์ปัจจุบันยังทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งแบกรับภาระค่าอาหารเลี้ยงกุ้งมากขึ้น เพราะกุ้งที่เลี้ยงไว้ตัวโตเต็มไวได้อายุจับขาย แต่ไม่มีตลาดรับซื้อ จึงต้องเลี่ยงนานขึ้น จำนวนกุ้งในบ่อจึงเกิดการแออัด บางวันอากาศวิปริตทำให้กุ้งน็อคตาย สร้างความเสียหายซ้ำอีก ล่าสุดเกษตรกรบางรายแก้ไขปัญหาโดยการนำกุ้งสดขึ้นรถเร่ขายไปตามหมู่บ้าน บางรายทำเพิงพักขายตามไหล่ทางถนน ทั้งนี้หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งคงได้รับความเดือดร้อนหนักกว่านี้แน่นอน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หามาตรการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของต้นทุนการผลิต ค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ค่าอาหารกุ้ง และหาตลาดรับซื้อกุ้งด้วย ขณะที่ในส่วนของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งเอง ก็กำลังมองหาทางออก ซึ่งอาจจะเป็นในเรื่องของแปรรูปกุ้งจำหน่าย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ในยุคที่กำลังประสบกับความเดือดร้อนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นี้