เพราะพวกเรา “ต้องรอด” โครงการ “ต้องรอด” โดยกลุ่ม Up for Thai เป็นความร่วมมือกันของกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนและภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ประชาชนจากความเดือดร้อนในภาวะการระบาดของ ไวรัส COVID-19 นำโดยคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค คุณชายอดัม ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล พร้อมยังได้รับการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องที่มีชื่อเสียงอย่าง ป้าตือ คุณสมบัษร ถิระสาโรช และ คุณสุกิจ เจริญมุขยนันท์ โครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก คุณอัพ (กุลทรัพย์ วัฒนผล) หัวหน้าทีมที่บุกเบิกวงการ E-Sports ใน เมืองไทย และเป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเด็กของคุณชายอดัม ซึ่งได้เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มอาสาสมัครเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับประเทศนี้ โครงการ “ต้องรอด” โดยกลุ่ม Up for Thai ได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมการสนับสนุนสิ่งของจำเป็น เพื่อรับบริจาควัตถุดิบ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม รวมถึงทุนทรัพย์ และยังได้จัดตั้งโรงครัว ตั้งเป้าผลิตอาหารสำหรับ 2,000 คนต่อมื้อ (3 มื้อต่อวัน) ในทุก ๆ วัน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564) แจกจ่ายไปยังชุมชนที่มีการกักตัวจากการเฝ้าระวังอาการ และจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ศูนย์รวบรวมการรับบริจาคและโรงครัวเพื่อชุมชน ของ โครงการ “ต้องรอด” โดยกลุ่ม Up for Thai ปฏิบัติงานตามนโยบายและแนวทางมาตรการป้องกันการติดเชื้อของกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด โดยจัดทำแผนงานการคัดกรอง COVID-19 ร่วมกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่ และกำหนดการพ่นฆ่าเชื้อพื้นที่ปฏิบัติงาน (surface disinfection) ทุก 10 วัน ทางศูนย์มีการจัดแบ่งพื้นที่การทำงานของกองอำนวยการ พื้นที่พักอาศัยสำหรับอาสาสมัครแบบพักค้างคืน กำหนดจุดลงทะเบียน จุดรับและจุดฆ่าเชื้อสิ่งของบริจาค มีการบริหารจัดการคลัง จัดเก็บวัตถุดิบแห้งและสด แบ่งพื้นที่เตรียมอาหาร พื้นที่ประกอบอาหาร รวมไปถึงพื้นที่ลำเลียงเพื่อจัดส่ง และพื้นที่ซักล้าง นอกเหนือจากนี้ โครงการ “ต้องรอด” โดยกลุ่ม Up for Thai ยังประสานงานกับหน่วยงานภาคประชาชนและเอกชนอื่น ๆ เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (แบรนด์ CP) บริษัทอาจจิตต์อินเตอร์เนชั่นเนล เพ็พเพอร์แอนด์สไปซ์ (ตรามือที่หนึ่ง) บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ (แบรนด์สิงห์) บริษัทหาดทิพย์ (แบรนด์น้ำทิพย์และโค้ก) บริษัท เซ็ปเป้ (แบรนด์เซ็ปเป้และเพรียว) บริษัทไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ (ตลาดไท) ฯลฯ เพื่อสร้าง supply route ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และมีการประสานเชื่อมโยงคลังกับทาง ThaiPBS เพื่อส่งสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ ผ่าน ThaiPBS ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป โรงครัวปลอดเชื้อของ โครงการ “ต้องรอด” โดยกลุ่ม Up for Thai มีกำลังการผลิตอาหารสดใหม่ประมาณ 2,000 ชุดต่อมื้อ เป้าหมายผลิต 3 มื้อต่อวัน ทุกวัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยกองกำลังอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองประวัติว่าไม่มีความเสี่ยงจาก COVID-19 จะเข้าปฏิบัติงานตั้งแต่ 4:00 – 18:00 น. โครงการ “ต้องรอด” โดยกลุ่ม Up for Thai กระจายส่งอาหารสดใหม่ น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็น โดยพาหนะของศูนย์จำนวน 3 คัน และประสานกับขนส่งภายนอก เช่น ทีมคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รถคณะราษฎร กลุ่ม “เส้นด้าย” รถกลุ่มอาสาชุมชนพัฒนาใหม่ รถขนส่งภาคประชาชนอื่น ๆ ไปยังจุดกระจายอาหาร ของอุปโภคบริโภคในชุมชน เช่น SOS Thailand มูลนิธิปั้นเด็กดี มูลนิธิดวงประทีป อาสาดุสิต วัดสะพาน ThaiPBS กู้ภัยสมุทรปราการ รวมถึงชุมชนที่ต้องกักตัวจากการเฝ้าระวังอาการติดเชื้อไวรัส COVID-19 กว่า 50 แห่ง และครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกวัน อาทิ ชุมชนคลองเตย ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชนริมคลองสามเสน ชุมชนร่มเกล้า ชุมชน เชื้อเพลิงพัฒนา ชุมชนสวนอ้อย โดยทางโครงการ “ต้องรอด” ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนจัดตั้งโรงครัว ทั้งทางด้านวัตถุดิบ องค์ความรู้ และการประสานงานพื้นที่กับกลุ่มบุคคล องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงครัวเคลื่อนที่โดยสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร โรงครัวชุมชนพัฒนาใหม่ โรงครัววัดคลองเตยนอก เขตคลองเตย โรงครัวกลุ่มอาสาดุสิต โรงครัวชุมชนในเขตคลองสามวา โครงการ “ต้องรอด” โดยกลุ่ม Up for Thai มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในหลายช่องทาง ทั้ง Social media ของกลุ่ม สำนักข่าวทั้งโทรทัศน์และออนไลน์ ผู้มีชื่อเสียง เช่น ศิลปิน/นักร้อง ไอดอล นักแสดง Influencer Streamer Youtuber รวมทั้ง Social Media ของภาคี เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนัก ความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการทำงานของกลุ่ม Up for Thai ติดตามการทำงานของ “ต้องรอด” ได้ทาง Social media/upforthai @upforthai