เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นางสาวเบญจพรรณ บุญตัน ประธานแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน กล่าวว่า เดิมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชผักสมุนไพรกันอยู่แล้ว จากนั้นได้รวบรวมผลผลิตกันจำหน่าย แต่ได้ราคาไม่สูงมากนัก ในปี 2561 ได้จดทะเบียนเป็นแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตำบลน้ำเกี๋ยน เพื่อให้มีอำนาจต่อรองราคากับตลาดมากยิ่งขึ้น ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกพืชสมุนไพรตำบลน้ำเกี๋ยนในปี 2563 ปัจจุบันแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีสมาชิกทั้งหมด 30 คน พื้นที่การปลูกรวม 12 ไร่ โดยปลูกพืชสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล เชียงดา อัญชัน และฟ้าทะลายโจร มีการบริหารจัดการด้านการผลิตตามความต้องการของตลาด โดยการแบ่งพื้นที่ปลูกพืชในแต่ละชนิดตามช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ ซึ่งทางกลุ่มฯ สามารถผลิตพืชสมุนไพรได้มาตรฐาน GAP และในขณะนี้กำลังขอรับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สำหรับการจำหน่ายผลผลิตของกลุ่มแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน จำหน่ายไปยังวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน ซึ่งราคาจำหน่ายขมิ้นชันสด 20 บาทต่อกิโลกรัม ไพลสด 20-30 บาทต่อกิโลกรัม เชียงดาสด 40 บาทต่อกิโลกรัม อัญชันสด 30 บาทต่อกิโลกรัม อัญชันตากแห้ง 500 บาทต่อกิโลกรัม และฟ้าทะลายโจรสด 100-150 บาทต่อกิโลกรัม ผลผลิตรวมอยู่ที่ 10 ตันต่อปี
นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังทำยาแคปซูลสมุนไพรฟ้าทะลายโจร จำหน่ายกระปุกละ 150 บาท ในชื่อแบรนด์ สมายล์ เฮิร์บ เวิร์ล จำหน่ายผ่านช่องทาง Facebook Mamy may ซึ่งในขณะนี้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ศรีวิชัย เกษตรจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ได้เข้ามาส่งเสริมกลุ่มฯ ในด้านการอบรมให้ความรู้วิชาการ การรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การบริหารจัดการศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน การแปรรูป รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆให้กับทางกลุ่มฯ อีกทั้งยังส่งเสริมให้กลุ่มฯ เข้าสู่โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยนำงบประมาณที่ได้รับมาจัดทำ โรงปุ๋ยหมักอินทรีย์ อาคารสำนักงานโรงคัดบรรจุผัก และจัดซื้อเครื่องอบความร้อน เพื่อพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งมีเป้าหมายในอนาคต คือการแปรูปผลผลิตด้วยตนเอง สามารถลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าของผลผลิต สู่การเพิ่มช่องทางการตลาด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้เกษตรกรสมาชิกและคนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย