นายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้สนองพระราชดำริ ฯ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากข้าวหอมไชยา ตั้งแต่ปี 2563 คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ได้ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา มีการรวมกลุ่มและขยายพื้นที่ในการปลูกข้าวหอมไชยา ได้ศึกษาและพัฒนาข้าวหอมไชยา จนได้มาตรฐาน GAP มีการจัดตั้งธนาคารข้าวหอมไชยา ศึกษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมข้าวหอมไชยา และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวหอมไชยา และในปี 2564 ได้จัดโครงการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา
นายธิติ พานวัน อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้รับผิดชอบโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เปิดศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ณ ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสืบสานและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ที่กำลังสูญหายให้เป็นข้าวคู่บ้านคู่เมืองไชยา ซึ่งเป็นข้าวที่มีประวัติการปลูกคู่เมืองไชยา มากว่า 100 ปี ซึ่งเดิมชาวบ้านจะเรียกว่าข้าวหอมห้วง ในการดำเนินการจัดศูนย์เรียนรู้ ครั้งนี้ ได้ร่วมกับอำเภอไชยา เกษตรอำเภอไชยา พัฒนาการอำเภอไชยา ประมงอำเภอไชยา ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานีและองค์การบริหารส่วนตำบลโมถ่าย ในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ได้จัดหลักสูตรให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป สามารถเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตของชุมชน การปลูกข้าวหอมไชยา การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมไชยา นอกจากนี้ ภายในศูนย์ ฯ ยังมีฐานเรียนรู้ ได้แก่การดำนาการปลูกข้าวในแปลงนาสาธิต ฐานเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงเป็ด การผลิตปุ๋ยชีวภาพ นอกจากนี้ ภายในศูนย์ยังมีการสืบทอดวัฒนธรรมการปลูกข้าวโดยมีศาลพระแม่โพสพ ซึ่งเป็นศาลพระแม่โพสพ 1 ใน 3 แห่งที่มีในภาคใต้