กลุ่ม Maybank Kim Eng เดินหน้าจัดงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 อย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้มาในหัวข้อ ทำไมต้อง EV Car ? ( The Rise of ASEAN EV) โดย Eirik Barclay Group Executive Vice President, New Ventures and Technology, Yinson Holdings , Jinsi Lee Funder and Chief Executive Officer,Oyika , Lee Yuen How Director, EV Connection ดำเนินรายการโดย Liaw Thong Jung Regional Head of Oil & Gas and Automotive Research, Maybank Kim Eng ด้วยการนำเสนอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์
ทีมวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้สรุปสาระสำคัญของงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อ ทำไมต้อง EV Car ? ( The Rise of ASEAN EV) ไว้ดังนี้ เหตุผลหลักมาจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน และประเด็นด้าน ESG ที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV car) เข้ามาตอบโจทย์ด้วยตลอดกระบวนการผลิตและใช้งานจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบกับรถยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine : ICE car) กว่า 40% ทำให้เราเห็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของ EV car อยู่ในระดับมากกว่า 30% ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับสูงต่อจากการเพิ่งอยู่ในเฟสเริ่มต้น และแต่ละประเทศเริ่มมีนโยบายสนับสนุนอย่างชัดเจนมากขึ้น อาทิเช่น ประเทศเดนมาร์ก, ไอแลนด์, สวีเดน, สิงคโปร์ มีแผนให้จะขายเฉพาะ Ev car 100% ในประเทศภายในปี 2030 และประเทศอังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น ภายในปี 2035-2040 และประเทศแคนาดา,นอว์เวย์ เกาหลีใต้ ภายในปี 2050 เป็นต้น (Source : IEA)
โดยเหตุผลสำคัญที่จะทำให้ EV Car เกิดได้ในแต่ละประเทศ แบ่งได้ดังนี้ 1) ความคุ้มค่า โดยจากการคาดการณ์ของBloombergNEF EV car จะลงไปมีราคาเทียบเท่า ICE car แบบไม่รวมการสนับสนุนจากภาครัฐได้ภายในปี 2026 จากเทคโนโลยีที่พัฒนาลดต้นทุนแบตเตอรี่ และการขยายกำลังการผลิตได้ Economy of scale ของเหล่าผู้ผลิต ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า 2) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยมีส่วนที่สำคัญที่สุดคือ แท่นชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นตัวแปรหลักสำคัญพอๆกับความคุ้มค่าด้านราคา โดยคาดว่ากว่า 80% ของดีมานด์การใช้จะอยู่ที่บ้าน, ห้าง และออฟฟิศที่ทำงาน และอีก 20% คือแท่นชาร์จระหว่างทางสำหรับการเดินทางไกล 3) รัฐบาลต้องสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย หรือ ภาษี จะเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการลงทุนพัฒนาให้ภาคเอกชน รวมถึงการสนับสนุนหรือตั้งกำแพงกับการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคในประเทศ
ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนเองนอกจากสิงคโปร์ ยังไม่เห็นการ Subsidy ที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐมากนัก และการไม่ได้มีเทคโนโลยี หรือฐานผลิตครบ Supply chain เป็นของตัวเอง คาดทำให้เกิดการ Adoption ได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศตะวันตก โดยการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจะเริ่มจากภาคธุรกิจ หรือระดับ Hi-End ที่มีราคาสูงก่อนทยอยลงมาสู่การใช้งานระดับ Mass ขณะที่ในประเทศไทยเองเริ่มมีการกำหนดเป้าหมายจะมี EV Car 30% ของยอดขายภายในปี 2030 แต่การเป็นฐานผลิตยานยนต์สันดาปที่ผูกแน่นกับบริษัทรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นที่ยังไม่ลงทุนในเทคโนโลยี EV อย่างเต็มตัว ถือเป็นความท้าทายที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับตัว ก่อนจะเป็นประเทศที่ถูกทิ้งจากธีม Disruption ของโลก