สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดพื้นที่สีแดง ยังคงน่าเป็นห่วง ภาพของคนเสียชีวิตคาบ้าน ไม่สามารถเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลที่เหมาะสมตามอาการได้อย่างทันท่วงที กลายเป็นภาพสะท้อนที่ฟ้องถึงประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการของระบบภาพรวมในปัจจุบัน
“ระบบสาธารณสุขใน กทม. ต้องการการปฏิรูปใหญ่จริงๆ เพราะโครงสร้างที่เป็นอยู่ไม่ใช่ระบบโครงสร้างของการควบคุมโรค ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ก็เล็กเกินไป ไม่ได้รับการพัฒนามายาวนาน บุคลากรไม่พอกับประชากรที่มี ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งตนเอง ไปคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย รามาฯ ศิริราช จุฬาฯ ก็พอพึ่งได้ แต่พอยามวิกฤตมันพึ่งไม่ไหว ระยะยาวต้องผ่าตัดใหญ่”
ทั้งนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้นำทีมแพทย์ชนบทบุกกรุงเพื่อมาทำการตรวจเชิงรุกเบื้องต้นให้กับประชาชนในชุมชนแออัดที่เข้าไม่ถึง หรือมีข้อจำกัดในการเข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโควิด ได้แสดงความคิดเห็นว่า ในการตรวจหาเชื้อโควิดในรอบที่ 2 ของทีมแพทย์ชนบท เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 3 วัน สามารถทำการตรวจคัดกรองไปได้ประมาณ 3.1 หมื่นคน พบว่าเป็นบวกประมาณ 5 พันคน หรือสูงถึงร้อยละ 16
“ก็เข้าใจได้เพราะจุดที่ไปตรวจเป็นชุมชนแออัด เราไมได้ไปลงชุมชนอย่างเดียว เราไปคุยกับชาวบ้าน ปัญหามันมากกว่าไม่ได้รับการตรวจ สำคัญคือ Antigen test kit แล้ว ต้องทำ RT-PCR มาตรฐานซึ่งต้องรอผล 2 วัน ซึ่งตอนนี้ในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีที่ตรวจ เหมือนผลักภาระให้ผู้ป่วยอย่างมาก ไปเข้าคิวไม่ได้ตรวจ ก็อยู่บ้าน เข้าไม่ถึงการรักษา อาการหนักก็เสียชีวิตที่บ้าน ที่เจอเองเลยล่าสุด มีผู้ป่วยมาตรวจ Rapid test ที่เราแล้วเป็นลม เราโทร 1669 รถพยาบาลมารับ แต่ไม่รู้จะส่งต่อที่ไหน เราเป็นหมอยังหาเตียงให้ไม่ได้เลย ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใน กทม. ไม่ไหวแล้ว”
ล่าสุด มีความชัดเจนจากการออกมาเปิดเผยโดยกรมการแพทย์ สำหรับผู้เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจด้วย Antigen test kit เป็น “ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย” (Probable case) ตามนิยามของกรมควบคุมโรคให้เข้าถึงการรักษาได้ทันทีเช่นเดียวกับการตรวจ RT-PCR โดยสามารถรับยา และรับการรักษาแบบ Home Isolation ได้ทันทีโดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ แต่ถ้ากรณีต้องเข้ารักษาในสถานพยาบาล หรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) ผู้ป่วยจะต้องรับทราบ และเซ็นยินยอมเข้ารักษา และยินยอมตรวจ RT-PCR ซึ่งระหว่างระผล RT-PCT จะแยกผู้ป่วยที่ตรวจด้วย Antigen test kit ออกจากผู้ป่วยโควิด-19 รายอื่นก่อน เพราะร้อยละ 3-5 อาจจะพบผลบวกปลอม คืออาจไม่ได้ติดเชื้อจริง
ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยังได้เสนอเรื่องของการเพิ่มเตียงสำหรับคนที่อาการไม่หนัก แต่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ อาจจะเพราะสถานที่ไม่อำนวย เช่น อยู่กันเป็นห้องเช่าขนาดเล็ก ซึ่งในส่วนนี้ กรุงเทพมหานครกำลังขับเคลื่อนในการทำศูนย์พักคอย ก็ถือว่าถูกต้องตามทฤษฎี แต่หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องเร่งทำเพราะอัตราผู้ป่วยโควิดนั้นสูงกว่า อัตราการเพิ่มเตียงประเภทนี้มาก
“จริงๆ โจทย์ของโควิดไม่ได้มีเรื่องใหม่เลย เตียงเพิ่ม ตรวจเชิงรุก และวัคซีน แค่นี้เอง ตอนนี้ไม่ใช่แค่สาธารณสุข และกทม. อย่างศูนย์กักโรค ศูนย์พักคอยสำหรับคนที่ป่วยแล้วไม่รู้จะไปนอนที่ไหน โรงเรียนก็ช่วยได้ เพราะปิดตลอดอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าโรงเรียนของทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และกทม. มีส่วนร่วมกับตรงนี้น้อยมาก อีกเรื่องคือความเข้าใจของผู้คนด้วย ที่ผ่านมาเราสื่อสารให้คนกลัวโควิด แต่ต้องสร้างความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องช่วยกันได้ ทำให้คนติดเชื้อมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ คนติดในคอนโดไล่เขาไปนอนที่อื่น คนเช่าบ้านถูกไล่ออกจากบ้าน เป็นแบบนี้เขาก็ออกไปแพร่เชื้อ แต่ถ้าคนในชุมชนช่วยกันดูแล ส่งข้าวส่งน้ำให้ เขาก็ไม่ต้องออกไปให้เสี่ยง มันต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องกับการแก้ปัญหา”
ประเด็นที่จะมีการพิจารณาเริ่มนับยอดผู้ติดเชื้อที่ผ่านการตรวจโดย Antigen test kit นพ.สุภัทร กล่าวว่า ก็ควรยอมรับความจริงมานานแล้ว ปัจจุบันเราตรวจ RT-PCR ได้ 7-8 หมื่นต่อวัน แต่ถ้าตรวจจริง 2-3 แสน เชื่อว่าน่าจะพบผู้ติดเชื้อถึง 5 หมื่นคนต่อวันแล้ว
“การตรวจให้เจอนี่เป็นหลักการที่เรายืนยันว่าต้องทำ เจอเยอะไม่กลัว แต่ถ้าไม่ได้ตรวจแล้วไม่เจอ เขาก็จะไม่รู้ตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ก็เดินไปเดินมา เพราะต้อนนี้ 70-80% มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการดูไม่ออก ฉะนั้นการตรวจให้เจอนั้นสำคัญมาก” หมอสุภัทร เน้นย้ำ
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีกำลังเตรียมนำเข้า เครื่องตรวจ Lumipulse G1200 จากประเทศญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของบริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด ในกลุ่มธุรกิจซีพี ออลล์ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 จากตัวอย่างน้ำลาย ใน 1 ชั่วโมงสามารถตรวจได้ประมาณ 100 ตัวอย่าง และมีความแม่นยำสูงถึง 98% ทราบผลได้ในเวลาเพียง 30-40 นาที สามารถตรวจเชื้อได้ในระยะฟักตัว การเก็บตัวอย่างก็ง่ายกว่า เพียงบ้วนน้ำลายใส่ภาชนะที่กำหนดไว้ ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อสำหรับบุคลากรเจ้าหน้าที่ในระหว่างเก็บตัวอย่างที่ต้องใกล้ชิดผู้รับการตรวจ ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเชิงรุกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยลดการเกิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ เช่นในโรงงาน หรือบริษัทห้างร้าน ที่ยังจำเป็นต้องมีการรวมตัวของบุคลากรได้
สำหรับการใช้การตรวจตัวอย่างน้ำลายนี้ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมาแล้วสักพัก โดยล่าสุด ในมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการรวมตัวของทั้งทีมงาน นักกีฬา และเจ้าหน้าที่จากทั่วทุกมุมโลก ก็ใช้การตรวจน้ำลาย เพราะทำได้ง่าย ผู้รับการตรวจเก็บตัวอย่างได้เอง เหมาะสำหรับการตรวจจำนวนมาก เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ ถูกกำหนดให้เข้ารับการตรวจเป็นระยะทุกๆ 3 วันเลยทีเดียว
มีการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 โดยน้ำลายโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด เทียบกับ RT-PCR เผยแพร่ในวารสาร The Lancet Microbe ซึ่งทดสอบกลุ่มตัวอย่าง 2,056 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการยืนยันทางคลินิกว่าติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่เดินทางมาถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว และคันไซ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำลายของคนกลุ่มนี้มาตรวจแบบ RT-PCR และตรวจสอบจากน้ำลาย พบว่าสามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการตรวจ RT-PCR ซึ่งการตรวจน้ำลายนั้นใช้ระยะเวลาสั้นกว่า จึงสามารถนำมาใช้คัดกรองก่อน แล้วจึงค่อยยืนยันผลด้วย RT-PCR อีกครั้งภายหลังได้