จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ ห้ามเสนอข่าวอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว กระทบต่อความมั่นคงรัฐ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากพบมีการกระทำผิดดังกล่าว ให้อำนาจ กสทช.ควบคุม ระงับการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีผลวันนี้ (30 กรกฎาคม) ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “หลังจากที่เคยมีผู้ทักท้วงข้อกำหนดฉบับที่ 27 (ข้อ 11) จนรองนายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงว่า ห้ามเฉพาะการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ วันนี้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 โดยมีข้อห้ามแบบเดิมอีก ทำให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลว่าต้องการห้ามการนำเสนอข้อมูลใดๆ ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะ “จริง” หรือ “เท็จ”
หากบังคับใช้กฎหมายในแนวทางนี้ การนำเสนอข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาดไม่ว่าจะทำโดยสื่อมวลชน บุคคลทั่วไป แม้แต่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะกระทำมิได้เลย เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาดไม่ว่าในแง่มุมใด ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวได้ด้วยกันทั้งสิ้น
ผลวิปริตเช่นนี้ คนทั่วไปก็บอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อสามัญสำนึก ในขณะที่นักกฎหมายบอกได้ทันทีว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่ได้มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่เห็นได้ชัดว่าต้องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการที่ผิดพลาดของรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพโดยสุจริต ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 นี้ จึงควรปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนด้วยการร้องขอให้ศาลยุติธรรมประกาศว่ากฎหมายลำดับรองฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”