สำนักงานชลประทานที่ 6 ตัดยอดน้ำในลำน้ำยังเข้าเก็บในแก้มลิงธรรมชาติ พร้อมเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำชี ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด เริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่ง พื้นที่ในเขตพนังกั้นน้ำ 21,000 ไร่ ไม่ได้รับความเสียหาย ประชาชนในพื้นที่ต่างพอใจ มีน้ำสำหรับสูบทำนาและเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 22-25 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งสูงสุด 0.34 ม.
ในวันที่ 27 ก.ค. 64 ช่วงเวลา 24.00 น. ที่ผ่านมา น้ำเอ่อท่วมพื้นที่ฝั่งซ้ายนอกเขตชลประทานในตำบลภูเงิน และตำบลเหล่าน้อย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบป้องกันและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี
ส่วนฝั่งขวาพื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่ เป็นพื้นที่ชุมชนและอยู่ในเขตชลประทานมีแนวพนังกั้นน้ำป้องกัน ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว สถานการณ์น้ำที่สถานี E.92 บ้านท่างาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
วันนี้ (29 ก.ค. 64) เวลา 09.00 น. อยู่ที่ระดับ 8.72 ม. (ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.08 เมตร) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ 184 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังคงมีน้ำค้างทุ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันพนังประมาณ 100 ไร่ คาดว่าในวันนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้บริหารจัดการน้ำทั้งระบบตามแนวทางที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเร่งระบายน้ำจากประตูระบายน้ำ (ปตร).บุ่งเบ้า และ ปตร.บ้านบาก เพื่อตัดยอดน้ำเข้าไปเก็บในแก้มลิง 3 แห่ง
ประกอบด้วยแก้มลิงบึงบ่อแก แก้มลิงบึงเกลือ และแก้มลิงกุดปลาคูณ ในอัตรา 10-20 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณ 0.8-1.7 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร พร้อมดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่สถานี E.102 สะพานบ้านค้อเหนือนางาม ช่วงรอยต่ออำเภอเมืองยโสธรและอำเภอเสลภูมิ จำนวน 16 เครื่อง
เพื่อเร่งการระบายน้ำ รวมไปถึงการบูรณาการจัดจราจรน้ำชี-น้ำยัง ร่วมกับ สชป.7 โดยการเปิดบานระบายพร่องน้ำในเขื่อนยโสธรปริมาณ 347 ลบ.ม./วินาที (29.98 ล้าน ลบ.ม./วัน) และเขื่อนธาตุน้อย 340 ลบ.ม./วินาที (29.38 ล้าน ลบ.ม./วัน) ไว้รองรับปริมาณน้ำที่ไหลมาสมทบจากน้ำยังตอนบน
ทั้งนี้ การตัดยอดน้ำในล้ำน้ำยัง ไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้สูบน้ำไปทำการเกษตร และมีปริมาณน้ำเก็บกักไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้งแล้ว ยังช่วยให้การระบายน้ำในลำน้ำยัง ไปลงแม่น้ำชีได้เร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบน้ำไหลหลากล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างไว้รองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาเพิ่มได้อีกด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง กรมชลประทานได้ปรับปรุง/ก่อสร้างอาคารชลประทาน ระบบป้องกันต่างๆมาโดยตลอด อาทิ การก่อสร้าง ปตร.บ่งเบ้า ปตร.กุดปลาเข็ง การปรับปรุงพนังกั้นน้ำยังฝั่งขวาตลอดความยาว 24 กม. นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยัง และลำน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงแผนงานปี 65-68 ในพื้นที่อำเภอเสลภูมิอีก 13 โครงการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน