ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น: นำภาพเขียนนิทรรศการ “มหาเวสสันดรชาดก” แนวศิลปะล้านนาร่วมสมัยกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในหอธรรมพระบารมี จ.ฉะเชิงเทรา ให้ชมกัน
เป็นผลงานของรองศาสตราจารย์ ลิปิกร มาแก้ว หลักสูตรทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้กล่าวที่มาของนิทรรศการ “มหาเวสสันดรชาดก” นี้ว่า เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อแนวทางการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยดำริของ พระอาจารย์สุรศักดิ์ จรณธัมโม กรรมการมูลนิธิหอธรรมพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้พิจารณาคัดเลือกศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแต่ละสาขาเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนำมาจัดแสดงนิทรรศการควบคู่ไปกับการแสดงธรรมเทศนา “มหาชาติ เวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์” ทุกวันธรรมสวนะ ตลอดทั้งพรรษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการบำเพ็ญอบรมเจริญบารมีที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ ในพระชาติสุดท้ายในโลกมนุษย์ ก่อนการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อเป็นกำลังแห่งความเพียรในการเจริญกุศล และเป็นแนวทางแก่พุทธศาสนิกชนในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความไกลจากทุกข์
‘ลิปิกร’ ศิลปินล้านนา ได้กล่าวอีกว่า โดยในปี 2564 นี้ ได้รับโอกาสอันสำคัญครั้งยิ่งใหญ่ในการร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนาด้วยผลงานศิลปะ ณ หอธรรมพระบารมี ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางด้านจิตรกรรมฝาผนังล้านนา จิตรกรรมฝาผนังล้านนาในรูปแบบสกุลช่างล้านนาได้ถูกทำลายหายไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนตามสมัยนิยม รัฐนิยม และศรัทธานิยม ทำให้ลักษณะ รูปแบบ รวมถึงแนวคิดของจิตรกรรมฝาผนังล้านนาก็เปลี่ยนไป เกิดเป็นสกุลช่างรูปแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากภาพประกอบสื่อสิ่งพิมพ์ของสำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี ซึ่งเขียนภาพต้นแบบโดยพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปชัย) ศิลปินเอกในสมัยรัชกาลที่ 5 – 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานศิลปะที่สอดคล้องกับการแสดงธรรม
ในส่วนของการสร้างสรรค์ผลงานมหาเวสสันดรชาดก ด้วยเทคนิคหมึกญี่ปุ่นสีฝุ่นบนกระดาษ สา ขนาด 200 x 120 เซนติเมตร จำนวน 14 ภาพ ได้แก่ ภาพที่ 1 กัณฑ์ทศพร ภาพที่ 2 กัณฑ์หิมพานต์ ภาพที่ 3 กัณฑ์ทานกัณฑ์ ภาพที่ 4 กัณฑ์วนประเวศน์ ภาพที่ 5 กัณฑ์ชูชก ภาพที่ 6 กัณฑ์จุลพน ภาพที่ 7 กัณฑ์มหาพน ภาพที่ 8 กัณฑ์กุมาร ภาพที่ 9 กัณฑ์มัทรี ภาพที่ 10 กัณฑ์สักกบรรพ ภาพที่ 11 กัณฑ์มหาราช ภาพที่ 12 กัณฑ์ฉกษัตริย์ ภาพที่ 13 นครกัณฑ์ และภาพที่14 ปฐมมาลัย เพื่อจัดแสดงสื่อความหมายตามกัณฑ์ ในบริบทคล้ายคลึงการสร้างผ้าพระบด หรือผ้าผะเหวด ที่มีมายาวนานปรากฏในการแสดงเทศน์มหาชาติในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ภาพจาก #เล่าเรื่องร่วมสมัย เพจสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
“โดยผลงานทั้ง 14 ชิ้น เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมมาตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ไปสิ้นสุด 30 กันยายน 2564 เมื่อจัดแสดงครบ 3 เดือนแล้วมอบแก่หอธรรมพระบารมี เพื่อจัดแสดงและเป็นประโยชน์สาธารณะต่อไป” ลิปิกร มาแก้ว ศิลปินล้านนา กล่าว