รายการโหนกระแสวันที่ 29 ก.ค. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “นพ.พิเชฐ บัญญัติ” รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอดีตนายกสภาการแพทย์แผนไทย หลังประชาชนเรียกร้องเรื่องสมุนไพร นอกจากกระชายขาว ฟ้าทะลายโจร อีกหนึ่งอย่างที่กำลังพูดกันคือ พลูคาว ตรีผลา คืออะไร ก่อนหน้านี้มีคนกินฟ้าทะลายโจร กระชายขาวสร้างภูมิตัวเอง กินต่อเนื่องยาวเป็นเดือนๆ แต่พออาจารย์บอกไม่ได้ ต้องมีระยะของมัน ทุกคนก็เข้าใจ และมีเรื่องคนกินยาวๆ แล้วมีปัญหาเรื่องของตับเหมือนกัน อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง? นพ.พิเชฐ : อะไรที่มันมากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี มันต้องพอดี ผมเองมีพรรคเพื่อนที่เป็นหมอ ดูแลคนไข้ ก็บ่นมาเหมือนกันว่าเจอคนไข้ค่าตับไม่ดี ตับมีปัญหา ถามไปว่าโอ้โห กินสารพัดสมุนไพร กินป้องกันเพราะความกลัว บางคนกินทั้งฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ตรีผลา จันทลีลา พอป่วยไปถึงหมอ หมอจะให้ยารักษาฆ่าเชื้อไวรัส ให้ไม่ได้ ตรวจแล้วค่าตับผิดปกติ เสียเวลาต้องรอ เพราะไม่กล้าให้ เพราะยาแต่ละตัวถ้าตับไม่ดีต้องระวัง มันสะท้อนว่ามีคนไม่เข้าใจ ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์เหมือนสงคราม ใครว่าอะไรดีคว้าไว้ก่อน แบบนี้ไม่ดี มันมีโอกาสมากเกินไป บางอย่างถ้าเราจะใช้สมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ต้องกินเป็นอาหาร กินตามหลักการปรุงอาหารแบบไทยๆ จะได้มีประโยชน์ไม่มีโทษ แต่ถ้ากินแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องมีระยะเวลา ปริมาณที่เหมาะสม ถ้ากินเป็นยาต้องกินให้ครบสูตรครบขนานของยา มันถึงจะได้ผล ถ้าจะกินฟ้าทะลายโจรยับยั้งไวรัสโควิด ก็ต้องกินให้ได้ปริมาณสารที่กำหนดตามที่เขาวิจัยไว้ กินฟ้าทะลายโจรไม่ใช่ว่าจะไม่ติดโควิดนะ? นพ. พิเชฐ : ใช่ครับ เพราะมันป้องกันการติดโควิดไม่ได้ ผลการวิจัยในหลอดทดลอง มันป้องกันไม่ได้ ชัดเจนว่าเก็บไว้กินตอนรับเชื้อ ถ้ากิน 3 วันแล้วโอเค ไม่มีอาการ ดีขึ้น ก็กินต่อให้ครบ 5 วัน พอ 5 วันเชื้อจะออกจากร่างกายไปหมด เชื้อจะค่อยๆ ขับออก ปกติถ้าเราไม่กินยา เป็นชนิดไม่มีอาการ ไม่รุนแรง 5 วันอาการจะลดลงเพราะร่างกายสู้มันได้ภูมิคุ้มกันจะกัดมัน 7-10 วันส่วนใหญ่จะหมด แต่ถ้าอาการเยอะจะกำจัดช้าหน่อย เป็นซากเชื้อ ยาแผนปัจจุบันก็ทิ้งไม่ได้? นพ.พิเชฐ : โดยแนวทางตอนนี้ไม่ให้กินฟ้าทะลายโจร ควบกับยาต้านไวรัสปัจจุบัน ทั้งฟาวิพิราเวียร์ หรือบางท่านได้เรมเดซิเวียร์ ก็แล้วแต่ ไม่กินคู่กัน ถ้าดีก็กินฟ้าทะลายโจรให้ครบ ถ้าไม่ดีต้องหยุดให้หมอประเมินอาการว่าเชื้อลงปอดมั้ย ต้องปรับยาอะไรมั้ย แต่กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ แต่ถ้ากินเพื่อรักษาต้องกินให้ปริมาณเพียงพอ ถ้าไม่ปริมาณเพียงพอเราก็ไม่การันตีได้ว่ามันจะเอาอยู่ ตรีผลา ขิง พลูคาว กระตุ้นภูมิคุ้มร่างกายได้จริงหรือเปล่า? นพ.พิเชฐ : จากการศึกษาวิจัยในสัตว์และหลอดทดลอง ทั้งสามตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ภูมิคุ้มกันมีหลายแบบภูมิคุ้มกันทั่วไปหรือที่เรามีติดตัว พวกนี้กระตุ้นได้โดยการกิน อาหาร การออกกำลังกาย แต่ภูมิคุ้มกันเฉพาะเชื้อ เฉพาะชนิดจะได้จากการฉีดวัคซีน ถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันเฉพาะโควิดโดยตรง แต่การกินสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไปช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่กำจัดเชื้อโรคได้ด้วย มันก็จะเสริมกับภูมิที่ขึ้นจากการฉีดวัคซีน อันนี้มีการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองแล้ว แต่การกินต้องกินให้ถูกต้อง หนึ่งถ้ากินอะไรติดต่อกันยาวๆ เกิน 10 วัน อย่างพารา กินเกิน 10 วัน วันละเม็ดก็มีโอกาสที่ตับมีปัญหา ต้องหยุด ต้องเว้น อาจมีผลได้ถ้ากินทุกวัน ถึงกินเม็ดเดียวก็ควรหยุด การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จากตรีผลา ในตำราแพทย์แผนไทย ประกอบไปด้วย สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม สามอย่างนี้เรียกว่าตรีผลา ตรีแปลว่าสาม ผลาคือผล ผลไม้สามอย่าง ถ้าทำเป็นยาใช้แบบแห้งก็ได้ แต่ถ้าทำเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ใช้แบบสดต้มได้ สัดส่วนปริมาณเป็นยังไง? นพ.พิเชฐ : มีสองแบบ ถ้าเราใช้เพื่อการรักษาโรค เขาจะใช้สัดส่วนไม่เท่ากันตามสาเหตุของโรคเรา แต่ถ้าใช้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันปกติ ใช้หนึ่งต่อหนึ่งต่อหนึ่ง อย่างละเท่าๆ กันก็ได้ อาจเติมพวกน้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำผึ้ง ให้รสชาติดีขึ้น ต้องใช้สัดส่วนยังไงต่อน้ำเท่าไหร่? นพ.พิเชฐ : บางทีสูตรพวกนี้อาจแตกต่างกันได้ไม่ตายตัว แต่เราเน้นว่าสารแต่ละอย่างให้ท่ากัน เช่นใช้สองขีดก็ใช้สองขีดๆ เท่ากัน ไปต้มในน้ำสักลิตรนึง เติมน้ำตาลให้รสชาติดีหน่อย หรือเติมเกลือสักนิดหน่อย ต้มให้มันสุก แล้วกรองเอาน้ำมา เรียกว่าพิกัดตรีผลา ใช้สำหรับคนที่ไม่ป่วย แต่ถ้าคนป่วยต้องใช้หมอวินิจฉัย ว่าโรคเกี่ยวกับธาตุไฟ เราจะใช้อีกสูตรนึง ตัวยาไม่เท่ากัน เป็น 8-4-10 แต่ถ้ามีเสมหะเยอะ มีไอ ไข้ไม่เยอะ ก็ปรับไปอีก 10-8-4 ซึ่งตัวเลขนี้เป็นน้ำหนักสัดส่วนของที่ใช้ ถ้าแก้สาเหตุจากเสมหะ ใช้สมอพิเภก 8 ส่วน สมอไทย 4 ส่วน มะขามป้อม 12 ส่วน เพราะตัวมะขามป้อมลดเปรี้ยวฝาดขมกัดเสมหะ ละลายเสมหะได้ดี ทำให้เสมหะแห้งได้ แต่ถ้าไข้ ตัวร้อนเยอะ ไปทางหวัด น้ำมูกอาจไม่เด่น ก็ปรับเป็น 12-8-4 สมอพิเภก 12 สมอไทย 8 มะขามป้อม 4 แต่ถ้าไข้ไม่ค่อยมี เสมหะในคอนิดหน่อย น้ำมูกไม่ค่อยเยอะ แต่ครั่นเนื้อครั่นตัว เพลียๆ สาเหตุจากวาตะ ลมผิดปกติ อันนี้ปรับเป็นสมอพิเภก 4 ส่วน สมอไทย 12 ส่วน มะขามป้อม 8 ส่วน ซึ่งสามสูตรหลังเรียกมหาพิกัดตรีผลา สูตรแรกสำหรับเราไม่ป่วย แข็งแรงดี ใช้สัดส่วน 1-1-1 ถ้ากินยากก็เพิ่งมะขามป้อมเยอะหน่อย เป็นหนึ่งต่อสาม สูตรไม่ตายตัว ขิงช่วยมั้ย? นพ.พิเชฐ : ขิงเป็นสมุนไพรรสร้อน มันก็ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ในทางการแพทย์แผนไทย เพื่อนต่างประเทศหลายคน อยู่อังกฤษ อเมริกา เขาบอกว่าเพื่อนๆ คนไทยที่เป็นโควิด เขาต้มน้ำขิงกินแล้วรู้สึกดีขึ้น? นพ.พิเชฐ : สมุนไพรรสร้อนจะกระตุ้นธาตุไฟ ซึ่งธาตุไฟคือเรื่องภูมิคุ้มกันอยู่แล้วในการแพทย์แผนไทย ฉะนั้นการกินน้ำขิงก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขิง ข่า กระชาย รสร้อนหมด ก็กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เขาถึงเอาไปทำเครื่องแกง แต่การกินอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ติดกันตลอด อาจเสียสมดุลร่างกาย ผมคิดว่าเรากินสลับกันได้มั้ย หรือเพิ่มสัดส่วนเข้าไป อย่างกระชาย ภูมิปัญญาไทยไม่มีกินดิบนะ ต้องกินต้มสุก ถ้าคนอยากกินกระชาย บางสูตรบอก กระชายสัก 2 ขีด เพิ่มขิงไปหน่อยนึง 1 ใน 4 สัก 50 กรัม แล้วไปเพิ่มน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลกรวด ซึ่งน้ำตาลกรวดเป็นสมุนไพรอย่างนึง สมุนไพรไม่ใช่เฉพาะพืชนะ เป็นได้ทั้งพืชและสัตว์ และแร่ธาตุแบบนี้ จริงๆ ใช้น้ำตาปี๊บก็ได้ หรือไม่มีก็ใช้น้ำผึ้ง ถ้าไม่อยากให้หวานเยอะ อันนี้ก็ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน มีประโยชน์มากกว่ากินกระชายตัวเดียว กระชายตัวเดียวก็จะหนักอย่างใดอย่างนึง ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะกินได้นานหน่อย ควรใช้กระชาย อาจเพิ่มใบเตย เพราะมีรสเย็นมาตัดตัวรสร้อน ต้มแล้วเอาใบเตยใส่ไปตัดรสร้อนกระชายใส่น้ำตาลกรวดไปด้วย แล้วแต่ความหวานคนชอบ พอใส่ไปก็เป็นรสเย็นก็จะชุ่มชื่น ใส่เกลือไปนิดหน่อย แก้น้ำเหลืองเสียได้ด้วย พลูคาวนี่ไม่ค่อยได้ยินถึง แต่อาจารย์จะบอกว่าเป็นสมุนไพรที่ดีเหมือนกัน? นพ.พิเชฐ : ครับ มีวิจัยเยอะมากเลยนะ มีการจดลิขสิทธิ์การศึกษาวิจัยไว้เยอะ ทั้งประเทศไทยและในโลก พลูคาวคือผักคาวตองที่เขากินแกล้มลาบ ทางเหนือ กลิ่นใบจะคล้ายๆ ใบพลู กลิ่นคาวคล้ายคาวปลา เขาเลยเรียกพลูคาว หรือผักคาวตอง เวลาเราไปทางเหนือเขาทำเป็นลาบมาจะแกล้มตรงนี้ พืชตัวนี้มีกระจายใช้กันหลายประเทศ ชื่อแตกต่างกัน มีหลายพันธุ์ ในภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ใบเป็นรสร้อน ก็แก้กามโรค แก้น้ำเหลืองเสีย แก้กามโรคเข้าข้อ เกิดโรคอื่นๆ ด้วย แต่พอดูในตำรับยาไทยหนังสือเวชศึกษา ของพระยาพิศณุประสาทเวช บอกว่ามีตั้งแต่แก้น้ำมูก แก้ซาง ยาแก้ตาล และยานึงน่าสนใจ ยามหาระงับพิษ คือพิษอะไรมาก็สู้ได้ ยาแก้ไข นี่แพทย์แผนไทย ทีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการศึกษาวิจัย เราก็วิจัยและทำหนังสือมาเล่มนึง หนังสือผักคาวตอง ผมสรุปว่าผักคาวทองพอไปศึกษาทางเคมี มีสารเยอะมาก มีสารกลุ่มน้ำมันหอมระเหย ตั้ง 30 กว่าชนิด มีผลมีประโยชน์อย่างอื่นด้วย สารกลุ่มพวกฟลาโวนอยด์ , เคอร์ซีติน , รูติน และพวกสารอัลคาลอยด์ พบกว่า 15 ชนิด และพวกกรดไขมันที่สำคัญสองตัว เราต้องกินเข้าไป เราสร้างเองไม่ได้ มีสารเยอะมาก และมีการทดลองในทางเภสัชวิทยามีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ด้วย ที่พูดนี่ยังไม่มีการทดลองในคนนะ แต่มีทดลองในสัตว์ทดลอง และหลอดทดลอง อย่างต้านมะเร็งเขาไปทดลองกับมะเร็งปอด มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มันต้านได้ ฤทธิ์ต้านไวรัสได้หลายตัว สารเคอร์ซิติน จะออกฤทธิ์ ยับยั้งเชื้อไวรัสหลายตัว ตัวนึงที่กล่าวถึงในงานวิจัย คือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในหลอดทดลองและในสัตว์ ใช้ได้ดีกว่า แต่ไม่มีใครเอามาทำวิจัยเป็นยาจริงๆ จัง ๆ และต้านอักเสบได้ด้วย ที่สำคัญกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็มีการวิจัยหลายอัน ทั้งต่างประเทศและไทย สารจากน้ำสกัดแบบต้มของใบพลูคาวกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวเม็ดเลือดขาวชนิดที่จับไวรัสกิน นี่เป็นการทดลองก่อน ถ้าจะกิน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบอาหาร เป็นใบสด แต่ถ้าจะแปลงมาเป็นของที่เรากิน อาจใช้ต้ม เพราะการทดลองส่วนใหญ่ใช้น้ำสกัดจากต้มทั้งนั้น แต่เพราะกลิ่นคาว อาจไม่มีใครทำเป็นต้มกินเหมือนน้ำกระชาย น้ำขิง ผักคาวตอง หรือพลูคาว เขาบอกองค์ประกอบเคมี กับภูมิคุ้มกัน เขามีบอกหมดเลย มีข้อมูลที่มีการวิจัยมาหมดแล้ว ในจีนก็มีเอาไปวิจัย ตอนนี้อยู่ในสายกับ “ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ จงเจริญรักษ์” คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่วิจัยเรื่องพลูคาว? ดร.เอกสิทธิ์ : ใช่ครับ ตัวผมเองและทีมงานวิจัย เราทำงานวิจัยด้านการทดสอบ สกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เราทำวิจัยตัวพลูคาวมา 10 กว่าปี เนื่องจากตัวสมุนไพรพลูคาว เป็นสมุนไพรชนิดนึงทางภาคเหนือของไทย ตัวเขาเองมีลักษณะกลิ่นรสเฉพาะ ถ้าบี้ใบดูจะเป็นเมือกลื่น ทำให้เราสนใจ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ ที่เคยทำสารที่มีเมืองลื่นเมื่อผ่านกระบวนการย่อยเฉพาะ เราพบว่าหนึ่งในฤทธิ์นั้นคือกระตุ้นภูมิคุ้มกันในห้องทดลองได้เป็นอย่างดี และจากที่สืบค้นงานวิจัยย้อนหลัง ในงานวิจัยเยอะแยะบอกถึงฤทธิ์ ศักยภาพใบพลูคาว มีงานวิจัยชิ้นนึง ที่น่าสนใจ คือการออกฤทธิ์ยับยั้งซาโควี 1 โคโรนาไวรัสเวอร์ชั่นแรก ที่ระบาดในปี 46 เป็นตัวที่ทำให้เราเห็นศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาต่อ ทางทีมวิจัยก็วิจัยอย่างต่อเอง การทานบริโภคต่อไปต้องมีงานวิจัยที่นำมาสนับสนุนซัปพอร์ตต่อไปว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไร ถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์? ดร.เอกสิทธิ์ : ใช่ครับ มีศักยภาพสูงที่จะนำมาพัฒนาได้ต่อไป มองยังไง เดี๋ยวพูดไปราคาแพงอีก คราวที่แล้วทั้งฟ้าทะลายโจร กระชายขาวเอาไปขายโก่งราคากัน? พิเชฐ : ทั้งหมดเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ถ้าจะเอามาใช้ ต้องใช้เป็นอาหาร เช่น เอามากินแบบใบสด ถ้าใบสดจะดีตรงที่ได้สารน้ำมันหอมระเหยได้ด้วย ซึ่งช่วยกำจัดไวรัสได้ด้วย แต่ถ้าเราจะกินแบบสุกก็ต้องกินแบบต้ม ตอนนี้ภูมิปัญญาเรามีประมาณนี้ ส่วนการพัฒนารูปแบบเป็นยาฆ่าฆ่าไวรัสยังไม่ได้มีการศึกษา ข้อเสีย คือกินอะไรอย่าให้มากเกินไป ไม่ว่าพลูคาว ตีผลา หรือสูตรขิงกับกระชาย? พิเชฐ : ครับ เรียนว่าผมก็ไม่มีข้อมูลชัดเจน ว่ากินติดต่อกันนานเกินเท่าไหร่ แต่โดยหลักภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยเราจะไม่กินสมุนไพรตัวเดียวหรืออย่างเดียวติดต่อกันนานๆ แต่วิจัยบอกไม่ควรเกิน 7-10 วันอย่างเดียว การกินรูปแบบที่ไม่ใช่อาหารโดยตรงต้องระวัง เพราะอาจมีสารสกัดเข้มข้นบางตัวเปลี่ยนไปจากธรรมชาติที่อยู่ในอาหาร การกินต้องระมัดระวังเหมือนกินยา ผลการวิจัยในหลอดทดลอง มันยังขาดบางส่วนที่ยังบอกไม่ได้ คือหนึ่ง เวลากินเข้าไปฤทธิ์ทางยามันไปทำอะไรกับเรากับตัวเรามันยังบอกไม่ชัด เขาเรียกว่าเภสัชพลาศาสตร์ กินไปตัวเราไปทำอะไรกับยา ทำปฏิกิริยาอะไรกับมัน สองอันมีความสำคัญก่อนเปลี่ยนเป็นยารักษาโรค ดีที่สุดตอนนี้คือกินเป็นอาหารตามภูมิปัญญาที่เราใช้อยู่ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ปรับเป็นเครื่องดื่ม อาจเอามาต้มน้ำ ปรุงโน่นนี่ ผมว่าแบบนี้มีประโยชน์ ถ้าจะมองว่าฟ้าทะลายโจรเป็นดาบสู้ไวรัสได้มั้ย? พิเชฐ : ถ้าเป็นยาที่มาจากสมุนไพรก็ต้องเปรียบแบบนั้น คือเอาไว้ฆ่าไวรัส เป็บดาบฟาดฟันไวรัส กระชายขาวถ้ากระชายทั้งอันโดนรวม ไม่แยกเอาสารตัวใดตัวนึงก็เป็นโล่ได้ พลูคาวก็คล้ายๆ กัน ไปเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง แต่ต้องให้พอดี