วันที่ 29 กรกฎาคม ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และผู้บริหารกรุงเทพฯ แถลงข่าวสรุปการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings โดย ร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าขั้นวิกฤตตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม โดยในช่วง 1-2 วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 3,000 กว่าราย ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ยังถือว่ามีความจำเป็นตามหลักวิชาการและหลักการแพทย์ เพื่อลดการเคลื่อนที่ของประชาชน ลดการติดเชื้อ ซึ่งในกทม.มีศูนย์พักคอย 59 ศูนย์ เปิดให้บริการแล้ว 30-40 ศูนย์ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล จาก 100 กว่าเตียง เป็น 3,000 กว่าเตียง ยังไม่รวมโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลอีกหลายพันเตียง นอกจากนี้ ยังมีการทำ Community Isolation ดูแลในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำ home isolation หรือการกักตัวที่บ้านได้ เพื่อให้อยู่ใกล้ชิดแพทย์และจะได้รับการรักษา รวมถึงกลุ่มอาการรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาระดับปฐมภูมิโดยเร็วที่สุด ร.ต.อ.พงศกรกล่าวต่อว่า กทม.และ สธ.ทำงานร่วมกันมาตลอด กรณีที่มีข่าวทะเลาะกับ สธ.ทาง กทม.ได้ชี้แจงไปแล้วว่า กทม.ได้รับวัคซีนจำนวนเท่าไร โดย กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในระบบหมอพร้อม 1,220,000 โดส เป็นกระบวนการที่ทำร่วมกับ สธ. ดังนั้น จะมียอดลงทะเบียนของทั้งสองหน่วยงานในจำนวนนี้กว่า 30,000โดส ใช้ในการฉีดผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน และได้รับวัคซีนจากโครงการไทยร่วมใจเพียง 680,000 โดส และใน 1-2 วันนี้จะมีการตัดวัคซีนไปฉีดผู้ป่วยในชุมชนอีกประมาณ 30,000 โดส ตรงนี้เป็นตัวเลขทั้งหมดที่ได้รับ อีกทั้ง ได้รับจากโครงการไทยร่วมใจอยู่ที่ 680,000 โดส ซึ่งทุกครั้งที่จะนำวัคซีนจากโครงการไทยร่วมใจไปใช้จะต้องมีการขอมติจาก ศบค.ด้วยว่าจะให้ฉีดเท่าไรอย่างไร โดย กทม.ทำตามนโยบายมาตลอด เร่งฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค และผู้ที่มีความเสี่ยง และมีเป้าหมายฉีดให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ซึ่งศักยภาพของศูนย์ฉีดได้ 7-8 หมื่นต่อวัน หากได้วัคซีนเพิ่มเราก็มีศักยภาพที่จะฉีดเพิ่มได้