สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระกริ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ยอดพระกริ่ง’ อันดับหนึ่งของพระกริ่งนอกทั้งหมด จากพุทธลักษณะที่อวบอิ่มขององค์พระจึงให้ชื่อว่า “พระกริ่งใหญ่” พระพักตร์และพระเนตร แสดงออกถึงศิลปะอันเกิดจากสกุลช่างจีนอันบริสุทธิ์ เมื่อได้พิจารณาองค์พระจะเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบ เยือกเย็น และเปี่ยมสุขได้อย่างน่าอัศจรรย์ อาจสืบเนื่องจากความยิ่งใหญ่นี้เอง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร และ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงจำลองแบบอย่างมาจัดสร้างพระกริ่งไทย ถือได้ว่า “พระกริ่งใหญ่” เป็นต้นแบบในการสร้าง “พระกริ่ง” ของสยามประเทศอย่างแท้จริง ปัจจุบันหาดูได้ยากยิ่ง
ถิ่นกำเนิด
พระกริ่งใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ ณ มณฑลซัวไซ ประเทศจีน ในราวสมัยราชวงศ์ถัง และเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน ต่อมาขยายไปยังเขมร และเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับอายุจนถึงปัจจุบันยาวกว่าพันปี
เนื้อหามวลสาร-การจัดสร้าง
เป็นพระเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ สีทองดอกบวบ ผิวสนิมหุ้มออกเป็นสีมันเทศหรือนํ้าตาลแก่ ก้นปิดเป็นแอ่งแบบกระทะ ด้วยเนื้อโลหะที่ค่อนข้างแก่ทองเหลือง เขย่าแล้วจะเกิดเสียงดังกังวาน แต่บางองค์ก้นกลวงโดยไม่ปิดก็มี
กรรมวิธีการหล่อแบบลอยองค์ โดยใช้แม่พิมพ์แบบ “พิมพ์ประกับ” หรือ “พิมพ์ประกบ” คือ มีแม่พิมพ์ 2 ชิ้น ประกบด้านหน้าและด้านหลัง จึงปรากฏตำหนิเป็น “รอยตะเข็บ” ที่ด้านข้างขององค์พระทุกองค์ มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป
พุทธลักษณะ
พระกริ่งใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงามสง่า องค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานกลีบบัวซ้อน 2 ชั้น ชั้นละ 7 กลีบ, พระหัตถ์ขวาวางพาดบนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายทรงวชิราวุธ, พระเศียรค่อนข้างใหญ่ ด้านหลังแบนลาดกว่าด้านหน้า, พระเกศเป็นแบบมุ่นเมาลี 3 ชั้น ด้านหน้าระหว่างพระเมาลีชั้นล่างสุดและชั้นที่ 2 ประดับแซมด้วยรูป “พระจันทร์ครึ่งซีก” เม็ดพระเกศเป็นตุ่มนูน มีทั้งหมด 14 เม็ด เว้นช่องสมํ่าเสมอ แสดงถึงความละเอียดประณีตในการสร้าง อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่ง, กรอบไรพระเกศายกสูงกว่าพระนลาฏมากเป็นพิเศษ, พระเนตรตอกเป็นเส้นลึก เฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย แบบ “ตาจีน” พระนาสิกโด่งเป็นสัน ตรงปลายบานออก, พระโอษฐ์เป็นเส้นโค้ง ด้านบนกว้างกว่าด้านล่าง มุมพระโอษฐ์ทั้งสองตอกลึกลงไป, วงพระพักตร์อิ่มอวบอูมคล้ายรูปสี่เหลี่ยมมน, พระหนุจะเห็นรำไรอยู่ในที, พระกรรณข้างขวาสั้นกว่าข้างซ้ายและไม่ติดพระอังสา ส่วนพระกรรณด้านซ้ายจรดพระอังสา, พระอังสาทั้ง 2 ข้างลาดมน, พระอุระอวบอูมและวาดเข้าหาพระกัจฉะ (รักแร้), ฐานผ้าทิพย์ด้านหน้าพระเพลาแบนราบ แลดูพลิ้วอยู่ในที, เส้นชายจีวรและสังฆาฏิตลอดจนเส้นอาสนะเหนือฐานบัวด้านหน้า เป็น “เม็ดไข่ปลา” นูน กลม ละเอียดงดงาม, สัณฐานบัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบ “บัวจีน” เม็ดบัวเป็นตุ่มกลมนูน และร่องบัวทั้งสองเป็นร่องลึก
พุทธคุณ
เด่นทางอำนาจ เจริญด้วยลาภ ยศ สักการะ ป้องกันภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ใช้ทำนํ้ามนต์สำหรับอาบและดื่ม เพื่อบรรเทาและหลุดพ้นจากทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงครับผม