ภาวะวิกฤติจากไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงไปเมื่อใด แม้จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีการประกาศออกมาชัดเจนว่า การระบาดในประเทศไทยได้เลยไปจากระลอกที่สามแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าความเสียหาย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่ละนาที ที่ผ่านไป กำลังสะท้อนถึงสถานการณ์ได้ชัดเจนว่า หนักหนาสาหัส เอาการ ! จากการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด ของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาด้วยเชื่อมั่นว่า “จะเอาอยู่” หลังการระบาดในระลอกที่สอง จากความผิดพลาดในวันนั้น ได้ดำเนินต่อเนื่องกินเวลายาวนานกว่า 3เดือน และยังกลายเป็นห้วง 3 เดือนที่เต็มไปด้วยความสูญเสีย กระทบทั้งชีวิตความเป็นอยู่ ภาวะเศรษฐกิจ และการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที จากภาพที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศที่มีผู้ป่วยล้มตาย เสียชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ เป็นภาพที่น่าหดหู่ และเราต่างภาวนาว่าสิ่งเหล่านั้นคงไม่เกิดขึ้นในบ้านเราแน่นอน ! แต่แล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วันนี้ไม่เพียงแต่จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้าโจมตีประชาชนเป็นวงกว้าง เกิดคลัสเตอร์ใหม่กระจายไปในหลายจังหวัด ขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนเข้ามาระดมฉีดให้กับประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างทันท่วงที จนถึงวันนี้ปัญหา “คนพร้อม แต่วัคซีนไม่พร้อม” จึงยังกลายเป็นหนึ่งในวิกฤตที่ ทำให้ ครม.ทั้งคณะ นั่งไม่ติด โดยเฉพาะตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ “ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” ที่บัดนี้ได้กลายเป็น “หัวหน้าตำบลกระสุนตก”ไปเรียบร้อยแล้ว ! การบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด ที่มาจากการประเมินสถานการณ์เลวร้ายของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่ำกว่าความเป็นจริงตั้งแต่แรก จนทำให้เราเดินมาถึงการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งจากการประเมินล่าสุดของ “ทีมแพทย์” ในการประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ และกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันหยุดที่28 ก.ค.ที่ผ่านมา จะคาดการณ์ว่าอีก 4-6 สัปดาห์ “สถานการณ์จะดีขึ้น” ก็ตาม ทว่าปัญหาใหม่ที่ซ้ำเข้ามาเวลานี้คือผลกระทบจากการที่มี ผู้ป่วยเสียชีวิตคาบ้าน ไม่เว้นแต่ละวัน กลายเป็นวิกฤติใหม่ที่กำลังท้าทาย ผู้นำอย่างพล.อ.ประยุทธ์ อย่างหนักหน่วง เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้กำชับในระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าต่อไปจะต้องไม่ให้เห็นภาพประชาชนมานอนรอความช่วยเหลือ หรือเสียชีวิตตามท้องถนนอีก ต้องนำผู้ป่วยออกจากบ้านไปยังศูนย์พักคอย เร่งจัดหาเตียง ส่งโรงพยาบาลสนาม หรือนำส่งโรงพยาบาล “ ขอทุกหน่วยงานทำทุกวิถีทางลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่รออยู่ที่บ้าน และผู้ที่คอยรถมารับต้องไม่ให้ไปอยู่ตามถนนหนทาง ต้องไม่ให้เห็นภาพนี้อีกต่อไปอีก ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่สาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ให้ช่วยกันทำและคิด ว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลสนาม” (22ก.ค.64) แต่ดูเหมือนว่าจากวันที่นายกฯสั่งการจนถึงวันนี้ พบว่าไม่เพียงแต่จะมีสถิติผู้ติดเชื้อโควิด ทำยอดนิวไฮไม่เว้นแต่ละวัน ยังพบว่าปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนไม่น้อย ต้องเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน ไม่ได้รับการรักษา ถูกส่งไปถึงมือหมอไม่ทัน ภาพเหตุการณ์ และความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทางหนึ่งคือการสร้างความหดหู่ อีกทางหนึ่งยังกลายเป็นความคับแค้นที่ไม่มีทางออกของอีกหลายครอบครัว ที่ต้องรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น การประชุมเพื่อหาทางออกจากวิกฤตของฝ่ายบริหาร มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงใช้วิธีทำงานจากที่บ้านหรือ เวิร์ค ฟอร์ม โฮม การสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการระดมฉีดวัคซีนในแต่ละวันให้ได้มากที่สุด การขยายเตียงสนาม การจัดทำศูนย์พักคอย เพื่อรองรับผู้ป่วยได้รับความร่วมมือทั้งจากกทม. กองทัพ ไปจนถึงภาคเอกชน แต่ดูเหมือนว่ายังเป็นการวิ่งล้อไล่ไปกับภาวะวิกฤต เหตุการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เสียชีวิตที่บ้านหรือล้มตายในที่สาธารณะ ได้กลายเป็น “ประเด็นร้อน” ที่พลิกกลับมา “เขย่า” พล.อ.ประยุทธ์ และครม.ทั้งคณะ ตอกย้ำว่าระบบการบริหารจัดการของรัฐบาลล่าช้า ไม่อาจรองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ กำลังบั่นทอนขวัญและกำลังใจของผู้คนในสังคมไม่น้อย แม้วันนี้จะยังมีรัฐบาล นั่งบริหารประเทศ แต่กลับถูก “ฝ่ายค้าน” และ “แนวร่วมนอกสภาฯ” ไปจนถึง “ศัตรูคนเดิม” อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ หยิบฉวยมา “เขย่า” ได้อย่างต่อเนื่องและเข้าเป้า ! รัฐบาลถูกโจมตีว่ามีสภาพไม่ต่างไปจาก “รัฐล้มเหลว” บริหารทั้งสถานการณ์และจัดหาวัคซีนซึ่งเป็นเสมือน “อาวุธ” ที่จะใช้ต่อสู้กับไวรัสโควิดก็ดันเหลวไม่เป็นท่า อดีตนายกฯทักษิณ ใช้โลกโซเชี่ยล ผ่านแอพคลับเฮ้าส์ทุกวันอังคาร เป็นเวทีวิพากษ์การทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ อย่างดุเดือด พร้อมทั้งเปรียบเทียบให้ผู้คนได้เห็นว่า “วิสัยทัศน์” ของนายกฯประยุทธ์ กับอดีตนายกฯทักษิณ นั้นแตกต่างกันลิบลับ แค่ไหน แน่นอนว่า แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่อยากฟัง แต่อย่างน้อย เขาต้องเงี่ยหูฟังว่า “คู่ปรับ” พูดถึงตัวเองว่าอย่างไร อยู่ดี ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกลายเป็น “จำเลยสังคม” ต้องรับมือกับ เสียงโจมตี จาก “ฝ่ายค้าน” ที่อาศัยจังหวะเพลี่ยงพล้ำเข้ารุมขย้ำ โยนข้อกล่าวหาว่าเป็น “รัฐบาลฆาตกร” แล้วหล่อเลี้ยงกระแส ให้ยืนระยะไปจนถึงวันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งฝ่ายค้านตั้งเป้าถล่ม “บิ๊กตู่+5 รัฐมนตรี” ให้ได้ภายในสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ ในเดือนก.ย.นี้ แน่นอนว่าประเด็นที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหวและเปราะบางเช่นนี้ กำลังกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งแก้ไข ทำอย่างไร จึงจะไม่ให้ผู้ป่วยที่ยังตกค้างอยู่ตามบ้าน ต้องเสียชีวิต โดยไม่สามารถเข้ารับการรักษา แม้วันนี้จะมีหน่วยงานเอกชนและมูลนิธิ จิตอาสาหลายหน่วยงานยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่ทันต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน การสั่งล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัดที่มีการระบาดของไวรัสโควิดอย่างรุนแรงในระลอกแรกกำลังจะหมดลงอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมื่อครบ 14วันแรก แต่ยังพบว่ารัฐบาลเองยังไม่สามารถใช้เวลา 14 วันจากการล็อกดาวน์รอบนี้พลิกให้สถานการณ์ กลับมาเป็น “บวก” ได้ดีนัก และหากจะต้องใช้การล็อกดาวน์ที่เข้มข้นมากขึ้น ถึงขั้นปิดเมือง ตาม “อู่ฮั่นโมเดล” ในประเทศจีนที่เคยใช้แล้วได้ผลในคราวการระบาดอย่างหนักที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตามมาเป็น “แผนที่สอง” ก็ยังเป็นเรื่องของอนาคตที่ฝ่ายรัฐบาลต้องประเมินว่าจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดให้หนักหนาลงไปอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ หากจากนี้ไปรัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการ บัญชาการให้ทุกฝ่ายเร่งคลี่คลายปัญหาการรับและส่งต่อผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา การสูญเสียชีวิตทั้งที่บ้านและตามถนนยังคงมีให้เห็น ให้เศร้าใจ หดหู่ใจ ต่อไปเช่นนี้ น่าสงสัยว่า “คนเป็น” ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะทานทนกับแรงเขย่า จาก “คนตาย” ที่ไปไม่ถึงมือหมอ ได้อีกสักกี่ยก !?