ตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ไม่อาจละสายตา โดยเฉพาะประเด็นร้อนๆที่มีความพยายาม และจงใจพูดถึง “นายกฯพระราชทาน” ให้กลายเป็น “พลุ” ที่ถูกจุดจนทำให้ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ อันดับหนึ่ง ทั้งที่หลายคนรู้ดีว่า “ความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์” ! กระแส “# ไม่เอานายกฯพระราชทาน” เริ่มหนาหูมากขึ้น สอดรับกับที่ก่อนหน้านี้ ได้มีปฏิบัติการนำร่อง โจมตี “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีเป็น “รัฐบาลล้มเหลว” จากการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จนถึงบัดนี้รัฐบาลยัง “กู้วิกฤต” ไม่สำเร็จ แม้จะมีการสั่งล็อคดาวน์พื้นที่ความเสี่ยงสูงสุด 13จังหวัดไปแล้วก็ตาม ทว่ากระแสนายกฯพระราชทานที่ไม่เพียงแต่จะกระแทกไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้นว่า เขาสมควรที่จะถูก “เปลี่ยนตัว” เป็นม้าที่วิ่งต่อไปไม่ไหวแล้วเท่านั้น แต่ข่าวลือดังกล่าวยังกระทบไปถึง “สถาบัน” จนกลายเป็นเรื่องที่มิบังควร การออกมาให้ความเห็นของ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงเหตุผลเอาไว้ชัดเจน “ต้องตอบตามรัฐธรรมนูญเลยว่า นายกฯพระราชทานไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ถ้าสมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม จะลาออกก็ต้องกลับมาดูว่าตอนที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเเต่ละพรรคเสนอใครเป็นนายกฯในตะกร้าบ้าง ถ้านายกฯลาออก ก็ต้องไปไล่ดูรายชื่อที่เคยถูกพรรคการเมืองเสนอ เป็นเเคนดิเดตนายกฯ ที่เหลือว่ามีใครบ้าง ซึ่งไม่มีช่องทางที่จะมีนายกฯพระราชทาน ในโลกออนไลน์คงเขียนไปกันอย่างนั้น นายกฯพระราชทานมันเกิดขึ้นไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ และตนต้องตอบตามกฎหมาย จะตอบนอกเหนือจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้” (26 ก.ค.2564) นักการเมืองในปีกของ พรรคพลังประชารัฐ หลายคนต่างออกมาโต้กลับ พุ่งเป้าไปยังทักษิณ ทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าขอให้เสียสละเพื่อชาติ ด้วยการหยุดยุแหย่ให้คนในชาติต้องทะเลาะกันเอง โดยฉพาะอย่างยิ่งให้เลิกฝันเรื่องจะได้กลับมา ด้วยวิธีพิเศษ หรือแม้จะคิดเรื่องนายกฯพระราชทาน “ที่ผ่านมา มีหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการพูดถึงเรื่องนายกฯพระราชทานมาโดยตลอด ถามว่ามีสักครั้งหรือไม่ที่ทำได้ ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญว่าทำได้หรือไม่ อย่าเอาสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่พูดถามว่าต้องการอะไร ต้องการทำลายสถาบันหรือไม่ หรือมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ ซึ่งต้องมาดูว่าฝ่ายกฎหมายจะดำเนินการกับคนเหล่านี้อย่างไร” สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ระบุ อย่างไรก็ดีมีปฏิกิริยาจาก “รัฐบาล” ที่น่าสนใจ เมื่อมีการให้ข่าวโดยอ้าง “แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง” ออกมายืนยันว่า นอกจากจะไม่มีนายกฯพระราชทานแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ คือชายชาติททหาร จะไม่มีวันเอาตัวรอด หนีปัญหาอย่างแน่นอน และยังมีเวลาบริหารประเทศ ยาวไปอีก 1ปีครึ่ง “ เป็นการเต้าข่าว และเรื่องการที่จะมีนายกฯพระราชทาน หรือเปลี่ยนตัวนายกฯนั้นไม่เป็นความจริง 100% เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้ทำอะไรผิด กรณีนี้เป็นการนำเรื่องการเมืองมาเล่น เพื่อหวังปั่นกระแส” (26ก.ค.2564) แน่นอนว่าความพยายามและความต้องการที่จะ “เปลี่ยนตัวนายกฯ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยิ่งเมื่อมีความไม่พอใจต่อการบริหารนโยบายแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่ล้มเหลว บวกกับ “ความขัดแย้ง” จากฝ่ายการเมืองที่ยืนอยู่ตรงข้าม มาบรรจบกันในห้วงเวลาที่คะแนนนิยมของตัวพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในช่วง “ขาลง” จึงกลายเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ฝั่งตรงข้ามไม่น้อย โดยเฉพาะอดีตนายกฯทักษิณ เองที่เจ้าตัวประกาศกลางแอพฯคลับเฮาส์ ว่าจะกลับเมืองไทยแน่นอน ส่วนจะกลับมาเมื่อไหร่และอย่างไรนั้น จะบอกอีกที ทั้งนี้ไม่ว่าการจุดกระแส “นายกฯพระราชทาน” จะมาจากฝีมือของ “ใคร” ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า “พรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า” ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นประธาน ย่อมไม่ได้ “ประโยชน์” จากเกมการต่อสู้ครั้งนี้ อย่างชัดเจนมากกว่าใคร ! การออกมาส่งสัญญาณ “ไม่เอานายกฯพระราชทาน” ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในโลกโซเชียลเท่านั้น แต่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยังเสนอ2แนวทางที่ “ห่างไกล” ออกไป ทั้ง 1. พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และให้สภาเลือกนายกฯคนใหม่แทน จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ เท่าที่เหลืออยู่ จากนั้น 2.ให้นายกฯคนใหม่ ต้องตกลงกันให้แน่ชัดว่า มีภารกิจ “เฉพาะกิจ” ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อทำสองเรื่อง คือ แก้ไขวิกฤตโควิด และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาไม่เกิน 1ปี อย่างไรก็ดีการออกมาเบรคกระแสข่าวจาก “ฝ่ายรัฐบาล” ว่าไม่มีเรื่องนายกฯพระราชทาน เป็นแค่การปั่นกระแสข่าวเท่านั้น คือความชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสู้ต่อและจะไม่มีการลาออก ตามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ต้องการ เป็นอันว่าเกมจุดพลุจาก “มือมืด” ว่าด้วยนายกฯพระราชทาน เป็นอันยุติลง แม้กองเชียร์อดีตนายกฯทักษิณ จะผิดหวังกันเล็กๆอยู่บ้างก็ตามที แต่ไม่ว่าจะเป็นเกมใด ทั้งการนายกฯคนนอก หรือแม้แต่จะให้เลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อเดิมที่มีอยู่ ก็ล้วนแล้วแต่ไม่มี ชื่อธนาธร เข้ามาเป็นแคนดิเดต เกาะขบวนใดขบวนหนึ่งขึ้นมาได้ หรือแม้แต่การปั่นข่าว “ดีลลับ” ระหว่าง “พรรคพลังประชารัฐ”กับ “พรรคเพื่อไทย” เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง ก็ยังเป็นเส้นทางที่ “กัน” พรรคก้าวไกล ออกจากวงจรไปโดยปริยาย จึงมีรายงานข่าวผุดขึ้นมาไล่ล้อกันว่า กองเชียร์ของทักษิณ จุดพลุว่าด้วย นายกฯพระราชทาน แต่ในโลกโซเชี่ยล พรรคเพื่อไทยต้องมาพ่ายเกมด้วยการที่มีมือดี มีแนวคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับแกนนำคณะก้าวหน้าและ ม็อบราษฎร ปั่นกระแส “ไม่เอานายกฯพระราชทาน” ขึ้นมาเบียดจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ อย่างที่เห็น !