บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID 19 (โควิด-19)จนถึงเดือนนี้กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยอยู่ในสถานะของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วเกินกว่า 500 วัน มีการขยายเวลาใช้ พรก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวม 13 ครั้ง โดยแต่ละครั้งก็มี "การ์ดเหตุผล" ที่แตกต่างกัน ที่ต้องย้อนดูเหตุผลฮิตที่นำมาใช้ในการขยาย พรก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 เรียกว่า “ล็อกดาวน์ "(Lock Down) ได้ยาวนานมากขนาดนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และคนตาย ข่าวภาพรวมสถิติโควิดไทยช่วงนี้เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 1.4 หมื่น รวมผู้ติดเชื้อ 4.9 แสนคน ตาย 4 พันเศษ ตายเฉลี่ยวันละ 100 ซึ่งบุคลากรแพทย์เรียกร้องให้ ศบค.ต้องปรับแผนการฉีดวัคซีน ก่อนที่ยอดคนตายทะลุกว่าครึ่งหมื่น นี่เป็นสถิติที่ไม่ได้ตรวจหาเชื้อในทุกกลุ่มคน แต่เป็นข้อมูลจากการรักษาเพียงด้านเดียว สถิตินับตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ข่าว TNN ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 15,335 ราย แยกเป็น ติดเชื้อใหม่ 14,694 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 641 ราย ผู้ป่วยสะสม 468,439 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) หายป่วยกลับบ้าน 6,904 ราย หายป่วยสะสม 307,267 ราย เสียชีวิต 129 ราย หายแล้ว 26,873 ราย ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 รวมยอดติดเชื้อสะสม 497,302 ราย เสียชีวิตสะสม 4,059 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,904 ราย รักษาตัวอยู่ 158,550 ราย คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในปี 2564 = 884,000 คน ผู้ติดเชื้อแสดงอาการในปี 2564 = 398,000 คน แต่ ณ วันนี้ ยอดจริงได้ทะลุยอดประมาณการแล้ว เท้าความเป็นมา Lock Down (1) เพื่อการป้องกันดำเนินการ ให้มีการป้องกัน การควบคุม การแพร่ และการระงับการระบาดของโรค รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ดังกล่าวเป็นคราวๆ ออกไปอย่างต่อเนื่อง รวม 13 ครั้ง รวมถึงปัจจุบัน (2) นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 มีผลถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ขยายระยะเวลาการประกาศคราวที่ 12 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 และตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน 2564 ตามประกาศการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 13) ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 (3) ประกอบกับคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดต่างๆ ที่มีอำนาจในแต่ละพื้นที่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เช่น ตั้งสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตอาการ (LQ : Local Quarantine) ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงการตั้งโรงพยาบาลสนาม (Field hospital) หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และล่าสุดมีการตั้งศูนย์พักคอยและการแยกกักตัวที่บ้าน (Community Isolation และ Home Isolation) ในพื้นที่รองรับแรงงานกลับบ้าน โควิดระลอกที่ 4 (Wave 4) ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นการระบาดในรอบหรือระลอกที่ 4 (Wave 4) มาตั้งแต่ราวปลายเดือน พฤษภาคม เรื่อยมาจนถึงมิถุนายน 2564 จากระลอกแรก (Wave 1) จากจีนเมื่อมีนาคม 2563 ระลอกที่สอง (Wave 2) เมื่อพฤศจิกายน 2563 (cluster แรงงานต่างด้าวสมุทรสาคร) ระลอกที่สาม (Wave 3) เมื่อเมษายน 2564 (สายพันธุ์อังกฤษ cluster ทองหล่อ) ไทยใช้ยุทธศาสตร์ "กดโรค" (suppression) ได้ผลดีตั้งแต่มีนาคม 2563 จนถึง 19 ธันวาคม 2563 แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ดีขึ้น รัฐบาลจึงประกาศล็อคดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล 14 วันมาตั้งแต่ 12 กรกฎาคม 2564 และขยายออกไปถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ประมาณการว่ามีประชากรย้ายถิ่น ใน กทม.ประมาณ 2.1 ล้านคน (อีสาน 43.65% กลาง 25.5% เหนือ 19.9% ใต้ 5.4%) ปรากฏข่าวเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564 ว่า “นายก อบต.พูดชัดๆ ไม่เอาศูนย์พักคอยให้มาแบกรับภาระ มันหนักเกิน” ซึ่งเป็นศูนย์พักคอย (Community Isolation) ที่รัฐจัดเตรียมไว้รับแรงงาน(ป่วย)ที่กลับบ้าน จึงน่าเป็นห่วงในสถานการณ์ที่เลวร้าย สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะขีดจำกัดในภาระหน้าที่ของ อปท. สถานการณ์ที่แย่ เพราะเชื้อมีการกลายพันธุ์ (mutation, variant) เชื้อใหม่ดุร้ายและสามารถหลบหลีกภูมิกันได้ คือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) หรือ สายพันธุ์อินเดียเดลตาพลัส ที่ไม่ได้นับสายพันธุ์อื่น คือ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) และ ที่ร้ายกว่าคือ สายพันธุ์แลมบ์ดา (เปรู) อิทธิฤทธิ์สายพันธุ์ Delta plus variant 1,260 เท่าจาก viral load ปกติ ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรวดเร็วแสนกว่าราย ทำให้การดูแลหนักขึ้น ขาดเตียง และงบประมาณดูแลที่เพียงพอ เมื่อเข้าสู่ยอดคลื่นของ Delta Wave 4 มองจากสถานการณ์จากทั่วโลก Global Trend พบว่ารุนแรงมากน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั้งยังยากยิ่งแก่การคาดเดา Wave ใหม่มารวดเร็วและรุนแรงไม่มีทางฉีดวัคซีนได้ทัน หลายพื้นที่ในโลกที่เคยประกาศชัยชนะไปแล้ว ต้องกลับเข้าสู่สงครามเชื้อโรคอีกครั้ง หลายพื้นที่ที่เคยสงบสุขกำลังย่อยยับ India ต้นทางสายพันธุ์นี้ติดเชื้อ 31 ล้านตาย 4 แสน ASEAN ก็ไม่มียกเว้น Indonesia ติดเชื้อและตายมากสุด สถิติของไทยผู้ติดเชื้อสะสม 4.9 แสนคน ตาย 4 พันแล้ว สถานการณ์โจมตีของ Wave ใหม่จนเดือนกรกฎาคมนี้ต้องประกาศ Lockdown ปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไป 10 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนทำงานทันที สถานการณ์โลกตอนนี้มีความกังวลว่า Delta ไปที่ไหนย่อยยับทุกที่ ที่ยังไม่ย่อยยับก็เพราะยังไม่ได้โดนทดสอบด้วยอย่างจริงจัง แม้มีส่วนที่วัคซีนช่วย Delta อาจเก่งมากจนกระทั่งไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ข้อสังเกตการป้องกันและการรักษาพยาบาลทางระบาดวิทยา (Epidemiology) ทางเลือกสำหรับประเทศที่ระบาดหนักมาแล้วในการป้องกันควบคุมโรค ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) การป้องกันโรค (prevention) และ (2) การควบคุมโรค (control) ขั้นการป้องกันในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มี 2 วิธีคือ (1) การฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากร (2) ไม่ฉีดวัคซีน เพราะยังไม่มี หรือหาวัคซีนไม่ได้จะปล่อยให้ระบาด คนที่รอดชีวิตจะมีภูมิคุ้มกันเอง คนที่อ่อนแอจะตายไป ตามหลักการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ไทยมีปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนเลือกข้อ 1 สำหรับขั้นที่ 2 ขั้นการควบคุมเป็นมาตรการและกิจกรรมที่ดำเนินการหลังจากที่เกิดโรคหรือภัยขึ้นแล้ว มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ (1) การรักษาไปตามอาการ ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ (2) ปล่อยให้ตายโดยเฉพาะรายอาการหนัก ประเทศที่ระบาดหนักมาแล้ว ก็ผ่านการทำแบบนี้มาแล้ว สำหรับขั้นที่ 2 นี้ ไทยยังไม่ถึง หรืออาจกำลังจะถึง หรือถึงแล้วในบางพื้นที่ ความเดือดร้อนเสียหายในการดำรงชีพ ความเจ็บป่วย การทำมาหากินฯของประชาชนจากการกระทำของรัฐ แม้ว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่เรียกย่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ก็ไม่ตัดสิทธิประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในการเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งจากศาลยุติธรรม หรือฟ้อง "เรียกร้องค่าเสียหาย" ต่อศาลแพ่งได้ ตาม มาตรา 16 บัญญัติว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” มาตรา 17 บัญญัติว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่" ในช่วงนี้ มีการพาดพิงกล่าวหากันไปมาระหว่างฝ่ายประท้วงต่อต้าน กับฝ่ายผู้ปกป้องรัฐออกมากล่าวหาท้าทายซึ่งกันและกัน เช่นมีวาทะประโยคว่า "พวกคุณหาเรื่องคนผิดรุ่นแล้ว" (You messed with the wrong generation) เพราะคนส่วนใหญ่จำนวนหนึ่งเป็น “คนรุ่นใหม่” (New/Young Generation) เป็นคำขวัญที่ชวนให้นึกถึงการประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมียนมาที่ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ เช่น ประเด็นการกล่าวหาเรื่องการจัดสรรกระจายวัคซีน การได้รับวัคซีนฟรี การละเลยล่าช้าในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยของรัฐ ผู้ป่วยล้นเตียง การปิดเมืองล็อกดาวน์ของรัฐ สรุปรวมๆ ปัญหาก็คือ เกี่ยวกับความเดือดร้อน ของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ การดำรงชีพ และชีวิตสุขภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ กลุ่มประชาชนผู้เห็นต่างจึงเกิดกระแสต่อต้านขึ้น จากความคับข้องใจที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีบางประการของประชาชนเกินสมควรไม่ได้ ตามมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่การใช้บังคับข้อกำหนดตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของภาครัฐก็มีข้อจำกัด ที่ไม่เหมือนเมื่อครั้งเป็น คสช. ทำให้มีการปะทะทางความความคิดไม่รู้จบ รายแรกข่าววันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ญาติของผู้เสียชีวิตจากโควิด19 รายที่ 137 ได้ยื่นฟ้องศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เลขาธิการนายกฯ สำนักนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี (4 ราย) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,530,000บาท จากกรณีละเลยต่อ หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะประสานหาที่ตรวจไม่ได้และได้รับการรักษาช้า คดีนี้ศาลปกครองมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว ข่าวเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564 นักศึกษาจุฬาฯ แจ้งความ สภ.หาดใหญ่ แจ้งจับนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ (ฟ้องรัฐบาล) ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะการรวบอำนาจ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เมื่อ 24 กรกฎาคม 2564 มีการจัดคาร์ม็อบการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการประท้วงคัดค้านในประเด็นต่างๆ ใน 3 จังหวัดคือ ที่ กทม. จังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดภูเก็ต ที่ภูเก็ตคาร์ม็อบได้ปะทะกับกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เอาม็อบ ต้องการทำมาหากิน สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามสภาพความรู้สึกความเป็นจริงนั้น เป็นไปตามหลักศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปที่ว่า ผู้นำเป็นบุคคลสาธารณะต้องอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลประมาทปล่อยปละละเลยไม่ดูแลประชาชนให้ดีทั่วถึง จนเกิดโรคระบาดโควิดขยายวงกว้าง และทำให้เกิดคนตายด้วยความผิดพลาดในการบริหารจัดการ และการจัดหาวัคซีนเพื่อบริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นความประมาทเลินเล่อ (negligence) หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (gross negligence) ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้นักวิชาการ ได้ออกมาแถลงหลักกฎหมายในเรื่องสิทธิมนุษยชนของประชน บางรายถึงขนาดจะทำจดหมายแถลงการณ์ถึง UN และศาลโลก เรียกร้องผ่านทางโซเชียล ร้องขอให้ UN ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดูว่าโควิดจะเป็นเกมการเมืองโลกไปแล้ว เมื่อ จีนได้ฟ้องสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี 2563 ว่าเป็นต้นเหตุแห่งการแพร่เชื้อโควิดไปทั่วโลก ในฟากรัฐ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE : Ministry of Digital Economy and Society) ได้มีมาตรการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเป็นความผิด ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือการหมื่นประมาทส่วนบุคคล ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 เช่น มาตรา 14(2) สมุนไพรการแพทย์ทางเลือกของคน(สิ้น)หวัง มีการทดลองใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรซึ่งมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งไวรัสโควิดได้ผลดีจากการทดลองใช้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงข่าวการตายของเจ้าสัวจากการติดเชื้อโควิด โดยไม่ใช้การรักษาพยาบาลสมัยใหม่ เพียงแต่ใช้ยาสมุนไพรรักษา ข่าวการใช้ยาสมุนไพร KERR (เป็นข่าวเท็จ : Fake News) ข่าวการบริจาคยาเหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล ยาสมุนไพรจีนต้านโควิด ของเอินเวย์ และยาน้ำ ฮั่วเซียง เจิ่งชี่เย่ (Huoxiang Zhengqi Ye) ให้กับพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นี่ถือเป็นตัวอย่างเป็นกระแสการดิ้นรนของภาคประชาชนที่แสวงหาแนวทางในการต่อสู้ป้องกันและรักษาโรคโควิดด้วยตนเอง ที่ภาครัฐบริการให้ไม่ถึง ไม่ทันใจ ไม่ได้ดั่งใจฯ เพราะโควิดจะไม่จากไปง่ายเหมือนไข้หวัดจนกว่าจะได้วัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จนโควิดกลายเป็นโรคตามฤดูกาล “ประจำถิ่น” ไป เพราะจากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านมาเกือบสองปีแล้ว ด้วยการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ ณ ห้วงเวลาวิกฤตนี้ จึงเป็นการเก็บข่าวและนำเสนอข่าวไว้ เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาสืบค้นในห้วงระยะต่อไป คนไทยต้องทำใจ “เพราะปัญหามีไว้ให้แก้”