หมอดินอาสาประจำอำเภอเชียงแสน ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้งาม นายคมบาง สนิทรัมย์ หมอดินอาสา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย ได้เข้ามาส่งเสริมหมอดินในเรื่องขององค์ความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดินต่างๆ ให้ดินมีสภาพดีขึ้นสามารถเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการตลาดและสร้างรายได้แก่เกษตรกร นายรณรงค์ สิทธิกอง เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย มีนโยบายเกี่ยวกับจะพัฒนาให้หมอดินอาสาเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จึงได้มีการจัดอบรมหมอดินเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหมอดินนำไปใช้แก้ปัญหาดินในพื้นที่ และก็เป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินเพื่อจะรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อลงไปแก้ไข ดินในพื้นที่ของหมอดินคมบางเนี่ยส่วนใหญ่ตรงนี้จะเป็นดินเหนียวลึกที่เกิดจากตะกอนมันจะขาดความอุดมสมบูรณ์จะต่ำปานกลาง เราก็จะได้เข้ามาช่วยส่งเสริมในเรื่องการทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพให้เกษตรกรได้ใช้ในพื้นที่ และก็ลดในเรื่องของการใช้สารเคมีเพราะแปลงนี้หมอดินจะไม่ใช้สารเคมีเลยเกษตรกรก็จะได้นำไปใช้ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน เป็นการลดต้นทุน เพราะว่าการใช้ปุ๋ยหมักกับน้ำหมักเนี่ยเราสามารถทำได้จากวัตถุในพื้นที่ได้เลย วัสดุในพื้นที่ใช้เป็นปุ๋ย เป็นธาตุอาหาร ให้กับพืชโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มูลสัตว์เราก็หาได้ในพื้นที่เศษหญ้าที่มาทำเป็นปุ๋ยหมักหรือว่าฟางข้าวเกิดจากการทำการเกษตรเราก็นำมาหมักเอง ไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นการลดต้นทุน องค์ความรู้เรามาถ่ายทอดในเรื่องของการเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ และก็ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพของพัฒนาที่ดิน เช่นปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ปูนโดโลไมท์ หรือว่าปอเทือง เพื่อมาปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมของการปลูกพืชและให้หมอดินสามารถถ่ายทอดให้กับเกษตรกรได้ สำหรับหมอดินเองเนี่ยก็ได้ทำเกษตรเป็นผสมผสาน มีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน รายปี รายสัปดาห์ รายวันก็จะเป็นปลูกพืชผัก เหลือกินก็นำไปขายสร้างรายได้ให้หมอดิน นายคมบาง สนิทรัมย์ หมอดินอาสา กล่าวว่า ทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวมาตลอดและใช้เคมี ผลผลิตได้น้อยก็ขาดทุนทุกปี และปีพศ.2536 ก็มีโอกาสได้เป็นหมอดินอาสา ของกรมพัฒนาที่ดิน ก็ได้รับองค์ความรู้ การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และก็ได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสานอย่างที่เห็นๆ ผลปรากฏว่าเราพออยู่พอกิน พอใช้ อีกอย่างเราไม่ต้องใช้ทุนสักบาทเลย ทางสถานีพัฒนาที่ดินเชียงราย ก็มาส่งเสริมพวกวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ พื้นที่ของตนมีอยู่ 7 ไร่ ที่แรกๆ ก็ปลูกส้มโอ ประมาณร้อยต้น เราเอาลองกองมา 100 ต้น แล้วก็เอาเงาะ พวกมังคุด หลายๆ อย่างไม้พืชป่า มาปลูกผสมผสานกันไว้ ในฐานะที่ผมเป็นหมอดินอาสาเนี่ยไปเจอใครที่ไหนผมก็แนะนำให้เขาเลิกใช้เคมีมาทำเกษตรอินทรีย์กันผมก็จะแนะนำเขาว่าเศษวัสดุที่เหลืออย่างฟางข้าวในนา เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเราก็เผา สถานีพัฒนาที่ดินก็สนับสนุนการไถกลบตอซังอยู่แล้ว แล้วก็มาทำปุ๋ยหมักน้ำหมัก ไว้รดราดใส่พื้นนา ไร่สวน และสวนผลไม้ต่างๆ พืชผัก หมอดินคมบางสามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ จากอาชีพทำการเกษตร และการลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยหมักน้ำหมัก จากทางสถานีพัฒนาที่ดินเชียงรายที่เข้ามาสนับสนุนและยังให้องค์ความรู้แก่หมอดินอาสาให้สามารถนำความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ นั้นไปบอกต่อกับเกษตรกรรายอื่นๆ อีกด้วย