จากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งฯ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด สู่ยโสธรโมเดล นายสมศักดิ์ ทวินันท์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ประจำโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า ในอดีตพื้นที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ราษฎร 7 หมู่บ้านจะประสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณสบแม่น้ำ คือแม่น้ำชีและลำน้ำยัง ทำให้น้ำท่วมเอ่อล้นพื้นที่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมของทุกปี ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถทำนาปีได้ ขณะที่นาปรังน้ำไม่เพียงพอ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 2543 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริให้มีการปรับปรุงพื้นที่ และฟื้นฟูสภาพป่า พร้อมส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ จากนั้นจึงเกิดโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น มีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบริเวณหนองอึ่ง สำหรับทำการเกษตรและการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมฟื้นฟูป่าบริเวณโดยรอบหนอง มีการอนุรักษ์คุ้มครองดูแลเพื่อให้ป่าสมบูรณ์ สามารถเป็นแหล่งพึ่งพิงให้แก่ราษฎรในการทำกินเก็บหาของป่ามาบริโภค เช่น เห็ดชนิดต่างๆ ตลอดถึงไข่มดแดงอาหารโปรดของราษฎรในพื้นที่ เป็นการลดรายจ่ายสร้างรายได้ให้กับประชาชน “มีการส่งเสริมอาชีพต่างๆ ทำให้ชุมชนมีระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สภาพสังคมดี มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวความคิดกันระหว่างราษฎรและเจ้าหน้าที่ส่วนงานภาครัฐที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนโครงการฯ ในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง รักในถิ่นฐานตัวเองและเกิดการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจน” นายสมศักดิ์ ทวินันท์ กล่าว ทั้งกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ประกอบด้วย 3 ข้อ 1.การพัฒนาขุดลอกหนองอึ่ง 430 ไร่ ทำเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตร แหล่งเพาะพันธุ์ปลา 2.ให้ปลูกต้นไม้และปลูกหญ้าแฝกรอบหนองอึ่ง เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินลงหนอง 3.ดำเนินโครงการให้เป็นการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนอง เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน สำหรับพื้นที่ป่าโดยรอบของอ่างเก็บน้ำหนองอึ่งนั้น มีชื่อเรียกว่า ป่าดงมัน ซึ่งตั้งแต่มีการจัดตั้งให้เป็นป่าชุมชนดงมัน มีการบริหารจัดการในการใช้ประโยชน์ของชุมชนโดยคณะกรรมการป่าชุมชนดงมัน ได้มีระเบียบกฎกติกา การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เป็นป่าชุมชนตามระเบียบของกรมป่าไม้เมื่อปี 2546 กติกาของชุมชนจะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า และตั้งแต่นั้นมาทำให้ป่าสมบูรณ์ขึ้น ในส่วนที่เสื่อมโทรมได้ร่วมกันฟื้นฟู มีการปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้วงยาง พันธุ์ไม้ท้องถิ่นในพื้นที่เกือบ 1,000 ไร่ ปัจจุบันป่าฟื้นฟูความสมบูรณ์ประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำให้มีของป่าปริมาณมากขึ้นอย่างชัดเจน ชาวบ้านเข้าเก็บหาของป่า แมลงขนาดเล็กที่นิยมบริโภค มีปริมาณมากจนสามารถนำมาจำหน่ายและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนส่งจำหน่ายในตลาดทั้งในและต่างประเทศ “ปีหนึ่งๆ ราษฎรได้เข้ามาหาเห็ดได้ 5 – 6 ตัน มูลค่า 3 – 4 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินที่เข้ามาหมุนเวียนในชุมชน เนื่องจากมีการส่งเสริมจัดตั้งสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการผลผลิตการแปรรูป มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์เป็นของชุมชนชื่อว่า วนาทิพย์ ประกอบด้วย เห็ดโคนในน้ำเกลือ ไข่มดแดงในน้ำเกลือ เห็ดเผาะในน้ำเกลือ แม่เป้งในน้ำเกลือ ทุกผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน อย. ทำให้มูลค่าจากผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างเห็ดโคน จาก 150 ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 300 – 350 บาท และเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 3 – 4 บาทต่อกิโลฯ นับเป็นรายได้ที่ถึงมือชาวบ้านโดยตรง ทำให้เกิดความหวงแหนในพื้นที่ป่า ต่างช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ด้วยเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้านในชุมชนทุกคน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และจังหวัด พิจารณาสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ” นายสมศักดิ์ ทวินันท์ กล่าว จากความสำเร็จในการน้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งฯ ยังผลให้เกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าโดยรอบของป่าดงมันจากราษฎร 7 หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง สามารถรณรงค์ขอคืนพื้นที่ที่ชาวบ้านยึดครองเพื่อใช้ทำกินก่อนหน้านี้และกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมคืนมาเพื่อบริหารจัดการและฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมกว่า 1,000 ไร่ และจะมีการกำหนดใช้กติกาชุมชนในการเข้าใช้ประโยชน์จากราษฎรเช่นเดียวกับพื้นที่ป่าดงมันทุกประการ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาเยี่ยมในพื้นที่เมื่อปี 2543 จนถึงวันนี้ 20 กว่าปีที่โครงการได้มีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง และได้น้อมนำพระราชดำริในการสืบสาน รักษา และต่อยอด งานในโครงการฯ โดยคณะทำงานได้มีการขยายผลการดำเนินงานในยังอำเภอต่างๆ ของจังหวัดยโสธร และพัฒนาขบวนการสหกรณ์หนองอึ่ง ให้มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายชุมชนต่างๆ มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดยโสธร เพื่อขับเคลื่อนขยายผลโครงการฯ ในลักษณะยโสธรเป็นโมเดลขับเคลื่อนต่อไป