"ศบค."เผยไทยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 16,533 ราย เสียชีวิต 133 ราย ป่วยรักษาหายเพิ่ม 10,051 ราย ผวา!"หมอเฉลิมชัย"เผยพบผู้ติดเชื้อในกรุงไม่แสดงอาการ 4-5 แสนราย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและควบคุมโรคได้ยาก ขณะที่"นายกฯ"เรียกประชุม"ศบค.ชุดใหญ่"ศุกร์นี้ ประเมินสถานการณ์ หลังล็อกดาวน์ 13 จังหวัดสีแดง
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 64 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 16,533 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 16,331 ราย และจากเรือนจำ 202 ราย มีผู้เสียชีวิต 133 ราย และรักษาหายกลับบ้านแล้ว 10,051 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศระลอกใหม่อยู่ที่ 514,498 ราย หายป่วยสะสม จำนวน 333,268 ราย
วันเดียวกัน น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ความรู้เรื่องCOVID-19 (ตอนที่746) 27กค2564 ประมาณการว่า กรุงเทพฯ น่าจะยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่ประมาณ 4-5 แสนราย ด้วยเหตุที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด เป็นไวรัสใหม่ และก่อให้เกิดโรคใหม่ คือ โควิด-19 จึงทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสและโรคโควิด-19 ทยอยพัฒนาเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
จากความรู้ทางด้านไวรัส ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดนั้น พบว่าเมื่อตอนต้นปี 2563 นักวิชาการคาดคะเนว่า ในผู้ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการมากถึง 80% และติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ 20% แต่เมื่อเวลาผ่านมาหนึ่งปีเศษ จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยจริงและการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ก็ประมาณการว่า ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการมีเพียง 20% หรือหนึ่งในห้า และมีการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมากถึง 80% หรือสี่ในห้าส่วน โดยที่ศักยภาพการตรวจมาตรฐานเพื่อหาไวรัสหรือ RT-PCR มีข้อจำกัดทั้งเรื่องการเก็บตัวอย่างที่ยุ่งยาก ต้องใช้บุคลากรทางสาธารณสุข ต้องจัดหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีความซับซ้อนและราคาแพง ตลอดจนน้ำยาชุดตรวจก็มีค่าใช้จ่ายสูง การรอผลการตรวจก็กินเวลามาก เช่น ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นการตรวจพบในระบบบริการ 10,407 ราย ในขณะที่เป็นการตรวจเชิงรุกเพียง 3,459 ราย และเมื่อเก็บข้อมูลสะสมย้อนหลังไป 14 วัน พบว่าเป็นการตรวจพบในระบบ 126,181 ราย คิดเป็น 76.20% ในขณะที่เป็นการตรวจเชิงรุกเพียง 39,402 รายคิดเป็น 23.80% ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนของการตรวจพบผู้ติดเชื้อแสดงอาการ และไม่แสดงอาการดังกล่าวข้างต้น
จึงคาดได้ว่า ยังมีประชากรที่ติดเชื้อแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยมาก จึงยังไม่ได้รับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCT เป็นจำนวนมาก และประชากรส่วนนี้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้การเกิดการแพร่ระบาดและควบคุมโรคได้ยาก เพราะเจ้าตัวเอง ก็ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ จึงไม่ได้ระมัดระวัง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องจัดระบบรองรับเป็นอย่างดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ภายหลังเสร็จสิ้นการเป็นประธานในพิธีวางพานพุ่ม ถวายพระพรชัยมงคล และถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดสีแดงเข้ม 13 จังหวัด ผ่านระบบ zoom จากบ้านพัก เพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การตั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ และการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน
ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ช่วงหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะทีมโฆษกกระทรวงทุกกระทรวง ช่วยกันสื่อสารทำความเข้าใจข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรการแก้ปัญหาโควิด-19 ขอให้ทุกคนช่วยกันสื่อสาร แต่ถ้าไม่อยากทำก็ให้ลาออกกันไป
รายงานข่าวแจ้ง ว่า ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โฮชา นายกฯ เตรียมเรียกประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 หลังประกาศยกระดับมาตรการคุมเข้มในพื้นที่สูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดแล้ว จะต้องยกระดับเพิ่มเติมอย่างไร เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ว่า 2 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง