นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากขึ้นเป็นลำดับ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มีความห่วงใยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และพี่น้องประชาชน โดยได้สั่งการให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ประสานผนึกกำลังทุกหน่วยงานใน ศธ. ร่วมมือให้ความช่วยเหลือ ทำให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนในสังกัดที่ยังไม่ได้ใช้จัดการเรียนการสอน เป็นโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลสนามสำรอง โรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว สถานที่พักคอย สถานที่แวะเข้าห้องน้ำ หน่วยคัดกรอง (Swab) เพื่อให้ได้รับการดูแลเบื้องต้น และรอการจัดหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ ซึ่งสามารถช่วยคัดแยกผู้ติดเชื้อลดอัตราการเสียชีวิตและการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้ความเห็นชอบของชุมชนและโรงเรียน สำหรับความคืบหน้าในการช่วยเหลือประชาชนและสังคม ของหน่วยงานใน ศธ. มีดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการอนุญาตใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาเพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอยในชุมชน รวมถึงหน่วยบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 510 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงพยาบาลสนาม 57 โรง โรงพยาบาลสนามสำรอง 12 โรง โรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว 16 โรง สถานที่กักตัว 281 โรง สถานที่พักคอย 134 โรง สถานที่แวะเข้าห้องน้ำ 9 โรง หน่วยคัดกรอง (Swab) 1 โรง และ 2 ค่ายลูกเสือ ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ถึง 12,358 เตียง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีสถานศึกษาในสังกัดที่ใช้พื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย รวมถึงหน่วยบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 21 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง และสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย 14 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีสถานศึกษาในสังกัดที่ใช้พื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย รวมถึงหน่วยบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 57 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลสนาม 5 แห่ง สถานที่กักตัว 51 แห่ง และสถานที่พักคอยในชุมชน 1 แห่ง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีสถานศึกษาที่จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยในชุมชน รวมทั้งสิ้น 97 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลสนาม 5 แห่ง จำนวน 107 เตียง สถานที่กักตัว 8 แห่ง จำนวน 84 เตียง และศูนย์พักคอยในชุมชน 84 แห่ง จำนวน 670 เตียง รวมแล้วสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 861 เตียง หน่วยงานส่วนกลาง ได้มีการจัดเตรียม หอพักสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (หอพัก สกสค.) ซึ่งตั้งอยู่ภายในกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมพร้อมเป็นสถานที่ในการดูแล ช่วยเหลือ กักตัว และดูอาการของบุคลากร/ครอบครัว ศธ. ที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยจะเป็นสถานที่นำร่องด้านศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation Center : CIC) ของ ศธ. ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นด้านกายภาพ พบว่าจำนวนห้อง จำนวนเตียง ระบบระบายอากาศ มีความพร้อมพอสมควร ซึ่งจะมีการปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ก่อนเปิดให้ความช่วยเหลือต่อไป