นายกเทศมนตรีตำบลคำเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับผู้นำชุมชน อสม. ระดมชาวบ้าน เนรมิตพื้นที่ว่างเปล่า 3 ไร่ เป็นสวนยาสมุนไพรพื้นบ้านและอาหารเสริม โดยนำพืชสมุนไพรนานาชนิด และหน่อกล้วยนานาพันธุ์ เข้ามาปลูก นำผลผลิตเป็นยาสมุนไพรดื่มกินสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายและรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงเข้าสู่ระบบการกักกันตัว และรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาล
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ที่โรงเรียนวังลิ้นฟ้า เขตเทศบาลตำบล (ทต.) คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งใช้เป็นสถานที่กักกันตัวประชาชน ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายก ทต.คำเหมือดแก้ว, นายโชคดี แก้วเก็ตคำ ปลัด ทต.คำเหมือดแก้ว, นายบพิตร งอมสระคู กำนัน ต.คำเหมือดแก้ว พร้อมด้วยสมาชิกสภา และ 4 ทหารเสือ ลงพื้นที่ตรวจการณ์และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยกักกัน และประชาชนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ และจังหวัดพื้นที่เสี่ยง ที่เข้าระบบการกักกัน 14 วัน โดย ตำบลคำเหมือดแก้ว กำหนดให้หอประชุมโรงเรียนวังลิ้นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลชุมชนและอยู่ระหว่างปิดเรียน เป็นสถานที่กักกันตัว โดยปัจจุบันในพื้นที่มีผู้เข้าสู่ระบบการกักกันตัว 4 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน 1 ราย และเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย
จากนั้น นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายก ทต.คำเหมือดแก้ว พร้อมคณะ ได้ร่วมกับชาวบ้าน นำพืชสมุนไพรนานาชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขิง ข่า ตะไคร้ และสมุนไพรพื้นบ้านต่างๆรวมทั้งหน่อกล้วยนานาพันธุ์ เข้ามาปลูกบนพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ข้างสำนักงาน ทต.คำเหมือดแก้ว จำนวน 3 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อจัดเป็นสวนสมุนไพรพื้นบ้าน โดยจะนำส่วนต่างๆของพืชสมุนไพรที่ปลูกขึ้น เช่น ใบ ลำต้น หัว กิ่งก้าน ไปสกัดเป็นตัวยาตามกรรมวิธีของการแพทย์ทางเลือก และใช้กับประชาชนที่เข้ารับการกักกันตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยได้รับเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลประจำอำเภอ ได้ดื่มกินเป็นภูมิต้านทานและบำบัดรักษาอาการให้ดีขึ้น
นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายก ทต.คำเหมือดแก้ว กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังมีแนวโน้มรุนแรง ขณะเดียวกันในแต่ละวันยังพบว่า มีประชาชนเดินทางจากกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูง กลับสู่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมากขึ้น ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ ทต.คำเหมือดแก้วและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งดำเนินการหามาตรการรับมือ ควบคู่กับการป้องกัน ไม่ให้ประชาชนได้รับเชื้อ หรือเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย จากโรคติดเชื้อโควิด-19
นายพิบูรณ์ กล่าวอีกว่า อีกแนวทางหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นมาตรการ ที่จำเป็นต้องนำมาใช้ ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน และภูมิคุ้มกันร่างกาย คือการนำยาสมุนไพรเข้ามาใช้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้ที่เข้าสู่ระบบการกักกันตัวและผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งยาสมุนไพรถือเป็นโอสถขนานเอกของการแพทย์ทางเลือก มีสรรพคุณบรรเทาอาการและบำบัดรักษาโรคภัยต่างๆได้เป็นอย่างดี โดยที่ทางการแพทย์แผนใหม่ให้การยอมรับ เช่น ฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว ซึ่งสามารถลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ผลเป็นที่ยอมรับทั่วไป
นายพิบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดชองโรคติดเชื้อคิด-19 ยังรุนแรง มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมกับผู้นำชุมชน อสม. ชาวบ้าน ระดมแรงกายแรงใจ จัดหาและนำพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ เข้ามาปลูกในพื้นที่ดังกล่าว โดยจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาให้เจริญเติบโต ทั้งการใส่ปุ๋ยบำรุง รดน้ำ เพื่อที่จะได้นำชิ้นส่วนของพืชสมุนไพรไปต้มดื่มกินหรือสกัดเป็นตัวยาต่อไป ในขณะที่ผลผลิตจากกล้วย ทั้งปลีกล้วยและกล้วยสุก ก็จะนำไปเป็นอาหารเสริมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการใช้สมุนไพร ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของหมอสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีความรู้ความชำนาญ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้การใช้ยาได้ผล หรือไม่เกิดผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ยา ทั้งนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน คือรักษามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายคือ ทุกคนก้าวข้ามวิกฤติโรคติดเชื้อโควิด-19 ด้วยกัน