เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่รัฐสภา นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในคณะกมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุการคณะอนุกมธ.เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุฯ แถลงกรณีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
โดย นายณัฐพล แถลงให้ข้อสังเกต และข้อกังวลใจของกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าคณะกรรมการ 21 ชาติ รวมถึงประเทศไทยได้เป็นกรรมการในการพิจารณาครั้งนี้ด้วย โดยการพิจารณาประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตัวแทน และผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติ ให้ข้อเสนอแนะว่าควรชะลอการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากในพื้นที่ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ ตนในฐานะประธานคณะอนุกมธ.ฯ ขอให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกมธ.ฯ ของเราไปหารือร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยกสม.มีข้อสังเกต เสนอแนะรัฐบาลให้ชะลอการเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลโดย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็ยังนำเสนอจนท้ายที่สุดเป็นที่มาในการรับรองป่าแก่งกระจายเป็นมรดกโลก และข้อสังเกตในรายงานของกมธ.กิจการเด็กฯ ได้มีรายงานนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งครม. ได้พิจารณาและตอบรับมา หนึ่งในนั้นให้ชะลอ และยุติการดำเนินคดีกับประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีปัญหากว่า 80 คน จึงกังวลว่าเมื่อประกาศให้เป็นมรดกโลก รัฐไทยจะดูแล และเยียวยา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อย่างไร
“ข้อเสนอไม่ได้ร้องขอเกินกว่าอภิสิทธิ์หรือเกินกว่าสิทธิ์ที่ควรจะได้ แต่เป็นข้อเสนอที่มาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น มาตรา 70 ระบุว่า รัฐควรส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้น การประกาศผืนป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก เราจะเฝ้าติดตามในหลายประเด็น และหวังว่ารัฐบาลจะใช้คำว่ามรดกโลก เพื่อการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์อยางยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อการกดเราไว้” นายณัฐพล กล่าว
เมื่อถามว่า ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าเหตุใดการพิจารณาขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานครั้งนี้ผ่านอย่างง่ายดาย นายณัฐพล กล่าวว่า การพิจารณาครั้งนี้มีกรรมการจากประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย อีกทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าหากไม่ได้เป็นการพิจารณาที่ประเทศจีน จะได้รับการทะเบียนหรือไม่ และประเทศใหญ่ที่เคยให้ข้อสังเกตเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางประเทศ ไม่ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวในการพิจารณาครั้งนี้
ด้าน นายสุรพงษ์ ให้ข้อสังเกตว่า แก่งกระจานถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง นอกจากพืช และสัตว์ ยังมีมนุษย์อาศัยที่นี่นับพันปี ซึ่งพบว่าที่บ้านใจแผ่นดิน มีขวานหินสมัยโบราณ อายุประมาณ 3 พันปี เป็นสิ่งบ่งบอกว่ามีการสร้างชุมชนตรงนี้มา 2 – 3 พันปีแล้ว สิ่งที่คณะกรรมการมรดกโลกให้ข้อสังเกตกับไทยมา 3 ข้อ คือ 1.ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่รอบขอบเขตมรดกโลก 2.ต้องรับประกันว่าจะจะมีการคุ้มครองการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเต็มที่ และ 3.ต้องรับประกันว่าจะมีการปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และสนับสุนนการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น ซึ่งรัฐต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ธ.ค.64 ในส่วนนี้เรากังวลว่าชาวบ้านอยู่มานานแล้ว แต่การดูแลยังไม่ดีนัก โดยหลายประเทศตั้งข้อสังเกตถึงการไม่ดูแลเรื่องการละมิดสิทธิมนุษยชน แม้ในปึ 2532 ทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐให้กะเหรี่ยงในพื้นที่อยู่ได้ตามวิถีชีวิตของเขา โดยอยู่กันอย่างสงบสุข ตนอยากให้เกิดภาพนี้ขึ้นมาอีกครั้งกับผืนป่าแก่งกระจาน โดยจะต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมจริงๆในการบริหารจัดการ
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ขอเสนอไปยังรัฐบาล 1.รัฐต้องยอมรับการมีตัวตน และการมีอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยงในเขตมรดกโลกแก่งกระจาน ในฐานะชุมชุนท้องถิ่นดั้งเดิม 2.ต้องให้ความคุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้ดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ตามมติครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2553 3.รัฐต้องยุติการจับกุมดำเนินคดีชาวกะเหรียงดั้งเดิม 28 คน ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองเดิมในพื้นที่มรดกโลก ตลอดจนสนับสนุนให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ และ 4.รัฐต้องเร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ระหว่างการยกร่างให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว หวังว่ารัฐจะให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง