วันที่ 26 ก.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,376 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,321 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,064 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,257 ราย มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 1,041 ราย มาจากต่างประเทศ 14 ราย โดย ศปก.ศบค.ได้หารือกันถึงสถานการณ์ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านที่มียอดติดเชื้อสูง จึงมีความเป็นห่วงเรื่องการเข้าประเทศ เพราะยังมีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 512,678 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 6,782 ราย หายป่วยสะสม 341,475ราย อยู่ระหว่างรักษา 167,057 ราย อาการหนัก 4,289 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 967 ราย
มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 87 ราย เป็นชาย 52 ราย หญิง 35 ราย โดยมากสุดอยู่ใน กทม. 40 ราย ขณะนี้ผู้เสียชีวิตกระจายตัวในจังหวัดต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 4,146 ราย ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 25 ก.ค. มีจำนวน 90,934 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 15,906,778โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 194,825,130ราย เสียชีวิตสะสม 4,175,080 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 26 ก.ค. ได้แก่ กทม. 2,573 ราย ซึ่งตัวเลข กทม.ยังไม่ได้รวมกลุ่มที่ตรวจหาเชื้อแบบRapid Antigen Test (ATK)ที่พบผลเป็นบวก อีก 1,000 กว่าราย สมุทรสาคร 1,074 ราย สมุทรปราการ 970 ราย ชลบุรี 867 ราย นนทบุรี 719 ราย ระยอง 411 ราย ฉะเชิงเทรา 320 ราย นครปฐม 311 ราย ปทุมธานี 301 ราย และพระนครศรีอยุธยา 290 ราย
โดยปัจจุบันนี้ พบว่าตัวเลขการติดเชื้อในต่างจังหวัดมียอดรวมกันสูงกว่า กทม.และปริมณฑล หลายจังหวัดพบว่าผู้ติดเชื้อมีประวัติเดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล จึงทำให้จังหวัดเหล่านี้มีผู้ติดเชื้อสูง และทำให้บางจังหวัดมีอัตราครองเตียงสูงไปถึง 70% แล้ว สำหรับจังหวัดที่มีนโยบายรับผู้ป่วยจาก กทม.และปริมณฑลไปรักษานั้น ขอเน้นย้ำมาตรการคัดกรองอย่างเคร่งครัด และการรักษาอาจต้องใช้ระบบเดียวกับ กทม.และปริมณฑล คือ แยกกักที่ชุมชน และแยกกักตัวที่บ้าน