"รมว.สธ"เผยผลประชุมผ่านระบบวิดีโอทางไกลร่วมกับ "รมต.สาธารณสุขอาเซียน" 10 ประเทศ โดยไทย เสนอตัวเป็นศูนย์ฯภัยฉุกเฉินโรคติดต่อ พร้อมหนุนอาเซียนสู้ภัยโควิด เร่งฟื้น ศก.ในภูมิภาค เมื่อวันที่ 25 ก.ค.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอทางไกลร่วมกับ รมต.สาธารณสุขอาเซียน สมัยพิเศษ ว่า ด้วยการโต้ตอบโรคโควิด -19 ของอาเซียน ภายหลัง 1 ปี (2021 Special Video Conference of ASEAN Health Ministers Meeting : 'ASEAN COVID-19 Response After One Year) โดยมี รมต.สาธารณสุข ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์และประสบการณ์การจัดการโรค โควิด-19 รวมทั้งแผนการฉีดวัคซีน และการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของโรค เพื่อร่วมกันลดการแพร่ระบาดของโรคในภูมิภาค นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ปัญหาการระบาดของโควิด- 19 โดยเน้นย้ำมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการติดเชื้อ การตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยได้อนุญาตให้มีการใช้ Rapid test รู้ผลตรวจในเวลาอันรวดเร็ว การปรับแผนการดูแลรักษา เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงกักตัวที่บ้านหรือชุมชน และการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทยพร้อมสนับสนุนกลไกการดำเนินงานในระดับภูมิภาคเพื่อฟื้นฟูความมั่นคงของภูมิภาค โดยเฉพาะกรอบการจัดการของอาเซียนในการเดินทางระหว่างประเทศ (ASEAN Travel Corridor Arrangement) และการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคติดต่อ (ACPHEED) โดยไทยได้เสนอตัวเป็นที่ตั้งของศูนย์นี้ และเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดอย่างจริงจัง และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของภูมิภาคว่าด้วยการสร้างความมั่นคงทางวัคซีน (Regional Strategic and Action Plan for Vaccine Security and Self-Reliance) เพื่อลดการพึ่งพาวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นจากภูมิภาคอื่น ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุมฯ รมต.สาธารณสุขอาเซียนได้รับรองแถลงการณ์ร่วม (Joint statement) ในการร่วมมือกันควบคุมการระบาดของโรคโควิด -19 และเตรียมความพร้อมในการตอบโต้ภัยสาธารณสุขในอนาคต สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนและการใช้ข้อริเริ่มของอาเซียนด้านสาธารณสุข ตลอดจนร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ในการจัดการผลกระทบด้านสุขภาพจากโควิด รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต