"ศบค."รายงานผู้ติอเชื้อโควิด-19 ทำสถิติต่อเนื่อง รวม 15,335 ราย เสียชีวิต 129 ราย ข้อมูลคลัสเตอร์ใหม่ 5 จังหวัด ด้าน"ผู้ว่านเมืองกาญจน์" ร่วมกับ "ผบ.เรือนจำ"เตรียมแผนตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นภายในเรือนจำ หลังพบนักโทษติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 379 ราย ขณะที่วัคซีน"ซิโนฟาร์ม"จากจีนถึงไทยเพิ่มอีก 1 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 15,335 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ 14,694 รายติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 641 ราย ผู้ป่วยสะสม 468,439 ราย หายป่วยกลับบ้าน 6,904 ราย หายป่วยสะสม 307,267 ราย เสียชีวิต 129 ราย
สำหรับข้อมูล คลัสเตอร์การระบาดของโควิด-19 ที่พบในจังหวัดต่างๆ ดังนี้1.สมุทรสาคร โรงงานอุปกรณ์สแตนเลส อ.กระทุ่มแบน 127 ราย2.นนทบุรี สถานสงเคราะห์บ้านเฟื่องฟ้า อ.ปากเกร็ด 8 ราย3.ฉะเชิงเทรา บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ อ.แปลงยาว 22 ราย4.ระยอง บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ อ.ปลวกแดง 21 ราย5.ชลบุรี โรงงานแปรรูปไก่ อ.พนัสนิคม 11 ราย
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยนายประมวล พูลสวัสดิ์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี ประชุมปรึกษาหารือกัน ในการวางแผนสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นภายในเรือนจำ เนื่องจากพบว่าผู้ต้องขังทั้งชายหญิง ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากถึง 379 ราย โดยโรงพยาบาลสนาม จะหาพื้นที่ ที่เหมาะสมเพื่อแยกออกมาให้เป็นสัดส่วน สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขที่คอยดูแลรักษา คือบุคคลกรทางการแพทย์โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา
ทั้งนี้ ปัจจุบัน จังหวัดกาญจนบุรี มีโรงพยาบาลสนาม จำนวน 3 แห่ง ประด้วยอาคารหอพักโรงพยาบาลมะการักษ์ อ.ท่ามะกา จำนวน 320 เตียง อาคารศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ สินค้าโอทอป องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 100 เตียง และที่ศูนย์ฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหาร นร.รด.(เขาชนไก่) ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จำนวน 300 เตียง
รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ร่วมกับ ฝ่ายบริการคลังสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ได้รับความไว้วางใจจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ปฏิบัติภารกิจขนส่งวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" จำนวน 1 ล้านโดส น้ำหนักรวม 33.39 ตัน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มายังประเทศไทย จำนวน 2 เที่ยวบิน โดยมาถึงกรุงเทพฯ ที่อาคารขนถ่ายสินค้า การบินไทย เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ได้แก่ เที่ยวบินพิเศษขนส่งวัคซีน เที่ยวบินที่ ทีจี 8669 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ออกเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เวลา 05.41 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 09.13 น. และเที่ยวบินขนส่งสินค้า (Cargo) เที่ยวบินที่ ทีจี 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ทำการบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ออกเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.48 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 10.28 น.
บริษัทฯ ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างครบวงจร โดยได้จัดเตรียมเครื่องบินลำตัวกว้าง สำหรับขนส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงอุปกรณ์บริการภาคพื้นเพื่อสนับสนุนเที่ยวบินขนส่งวัคซีน และพื้นที่คลังสินค้าปรับอากาศขนาดใหญ่ ที่มีความสะดวกในการส่งมอบวัคซีน โดยบุคลากรยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการขนส่งและดูแลผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าประเภทที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ และได้รับการรับรองมาตรฐาน GDP (Good Distribution Practice) ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก