ในยามที่ทุกคนอยู่ด้วยความยากลำบาก ดังเช่นในช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบมากมายทั้งทางสุขภาวะ เศรษฐกิจ และสังคมอยู่ในขณะนี้ สิ่งเดียวที่จะทำให้สังคมอยู่รอดคือ ความเอื้ออาทรและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ด้วยเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) แห่งสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for the Goals) เชื่อว่าแม้จะเกิดวิกฤติขึ้นอีกสักกี่ครั้ง โลกก็ยังมีความหวังที่จะผ่านพ้นไปได้
เนื่องในโอกาสครบรอบ 102 ปีชาตกาลของ ศาสตราจารย์ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดโครงการ "ศรีตรังปันสุข" ขึ้น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านปัจจุบัน กล่าวว่า นอกจากเป็นการรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ในฐานะปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการของคณะฯ และผู้วางรากฐานด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับอุดมศึกษาของประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความมีส่วนร่วมต่อสังคม (Social Engagement) เพื่อการส่งต่อความสุข และดูแลบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคณะเพื่อนบ้านที่ทำหน้าที่ในฐานะ "ด่านหน้า" ที่คอยดูแลประชาชนในช่วงวิกฤติ COVID-19 ด้วยการมอบอาหารกล่อง ซึ่งจัดทำโดยครัวคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ผ่านการระดมทุนบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาโดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการมอบไปแล้วจำนวนกว่า 1,000 กล่อง
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล ได้เล่าถึงที่มาของโครงการ "ศรีตรังปันสุข" ซึ่งตั้งตามชื่อของต้นไม้ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ COVID-19 จากการที่ได้ให้บุคลากรส่วนใหญ่ของคณะฯปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work From Home) และนักศึกษาทั้งหมดเรียนในระบบออนไลน์ตามมาตรการของรัฐเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลงของผู้ขายอาหารประจำโรงอาหารคณะฯ ซึ่งเปรียบเหมือนบุคลากรส่วนหนึ่งของคณะฯ จึงได้ริเริ่มให้มีการระดมทุนบริจาคเพื่อจัดทำอาหารกล่องเพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งต้องทำหน้าที่อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ โดยเป็นการได้ดูแลทั้ง "บุคลากรทางการแพทย์รพ.รามาธิบดี" และ "ครัวคณะวิทย์" เพื่อไม่ให้สูญเสียกำลังใจ
นอกจากนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้อำนวยความสะดวกเอื้อเฟื้อที่จอดรถสำหรับประชาชนผู้มาติดต่อฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพียงแสดงใบนัดหมายก็สามารถจอดรถ พร้อมชื่นชมความร่มรื่นของภูมิทัศน์อันเขียวขจี และอุดมสมบูรณ์ของคณะฯ ซึ่งเคยคว้ารางวัล "หน้าบ้านหน้ามอง" จากกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นการตอบแทนสังคมอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพลกล่าวต่อไปว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดทำอาหารกล่องตกประมาณวันละ 5,000 - 7,000 บาท ซึ่งนอกจากรับเป็นเงินบริจาคแล้ว ผู้สนใจยังสามารถร่วมบริจาคเป็นน้ำดื่ม ขนม ผลไม้ ฯลฯ โดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำไปมอบแก่บุคลากรทางการแพทย์ ตามโครงการ "ศรีตรังปันสุข" ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้หันมาดูแลซึ่งกันและกัน ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และนอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังมีโครงการจะให้ครัวคณะวิทย์บางร้านได้จัดทำอาหารเพื่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดี ในกลุ่มสีเขียว ที่ต้องกักโรค (Home Isolation) ตลอด 3 มื้อต่อวัน ร่วมบริจาคได้ที่ บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 026-475703-3 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารามาธิบดี ชื่อบัญชี "โครงการศรีตรังปันสุข โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" ติดตามรายละเอียดได้ที่Facebook : Mahidol University, Faculty of Science
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล