จ่ายตรงให้ผู้ปกครองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายช่วงบุตรหลานต้องใช้อุปกรณ์เรียนออนไลน์ คาดใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านเยียวยา เตรียมเข้าครม.วันอังคารนี้พร้อมอีก 3 มาตรการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอ 4 มาตรการช่วยเหลือ คือ มาตรการที่ 1 ให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ในวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ประมาณ 10.8 ล้านคน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท โดยใช้ฐานข้อมูลเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ใช้วิธีจ่ายเงินตรงให้ผู้ปกครองนำไปใช้ตามความจำเป็น เช่น ค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า เป็นต้น มาตรการที่ 2 ขอความร่วมมือโรงเรียนเอกชนให้ลด-ตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บผู้ปกครอง ในโรงเรียนเอกชนกลุ่มที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 พร้อมตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน ทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อพิจารณาสั่งการเป็นรายกรณี ขณะที่จากที่ศธ.ได้ประกาศแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ปีการศึกษา 2564 ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัด-กำกับ ถือปฏิบัติไปแล้ว ถึงขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช. คืนเงินค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นแก่ผู้ปกครองแล้วกว่า 2,275 ล้านบาท บางแห่งให้ผู้ปกครองผ่อนชำระค่าธรรมเนียมโดยปลอดดอกเบี้ยตลอดปีการศึกษา และบางโรงเรียนสนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตให้นักเรียน อย่างน้อย 1 เดือน ขณะสถานศึกษาของรัฐได้มีการคืนเงินค่าบำรุงการศึกษาบางส่วน และคืนเงินค่ากิจกรรมที่ไม่ได้จัดให้ผู้ปกครองไปแล้วเช่นกัน มาตรการที่ 3 ลดช่องว่างการเรียนรู้ และลดผลกระทบด้านความรู้ ที่ขาดหายไปโดยให้สถานศึกษาถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการคือ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้จัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีการศึกษา 2564 ได้ และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้สถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อใช้จัดการเรียนรู้และแก้ ปัญหาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของสถานศึกษา และจัดทําสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้หลากหลายที่เหมาะสมกับวัย อีกทั้งเพื่อรองรับการเรียนออนไลน์ ศธ. จะจัดเช่าอุปกรณ์พร้อมสัญญาณ 200,000 ชุด ให้นักเรียน/นักศึกษา กลุ่ม ป.4 – ม.6 และอาชีวศึกษา ใช้ยืมเรียน มาตรการที่ 4 ช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน โดยจะจัดฝึกอาชีพให้ โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน พร้อมประสานแหล่งทุนเพื่อเริ่มต้นประกอบอาชีพ โดย 4 มาตรการจะนำเสนอในการประชุมครม.27 ก.ค.นี้