ทุกวันนี้ สังคมไทยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีตัวเลขสูงเป็นจำนวนที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และมีหลายๆครั้งที่เป็นเหตุการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล การปฏิบัติต่างๆ ในระบบการจัดการศพเหล่านั้นล้วนมีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ประชาชนมาถึงจุดที่ปฏิเสธกันไม่ได้ว่า เรื่องการจัดการศพผู้ติดเชื้อนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนในสังคมเกิดความวิตกกังวล สิ่งหนึ่งที่สังคมกำลังจับตามองก็คือ การดูแลช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในกรณีที่ต้องจัดการศพผู้เสียชีวิตที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตาย ประชาชนต้องมีความเข้าใจก่อนว่า หากเป็นกรณีการตายผิดธรรมชาติ ศพนั้นจะถูกจัดการตามกระบวนการที่กำหนดโดย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีพนักงานสอบสวน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงตั้งแต่ มีการพบศพ ต้องทำการชันสูตรพลิกศพ รวมถึงการสั่งให้เคลื่อนย้ายศพออกจากสถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่พบศพนั้นเพื่อไปยังสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนที่ระบุในกฎหมาย แต่หากในกรณีตามสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ มีผู้เสียชีวิตเพราะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะถือเป็นการตายโดยโรคธรรมชาติ ไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่หากเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน เช่น การเสียชีวิตในห้องขังต้องให้มีการชันสูตรพลิกศพ แต่อาจไม่จำเป็นต้องมีการผ่าชันสูตรศพ เมื่อเข้าใจแล้วว่า ผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ถือเป็นการตายโดยธรรมชาติ การจัดการศพผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามต้องเกี่ยวข้องโดยเฉพาะได้แก่ การเก็บกู้ร่าง การนำศพบรรจุใส่ถุงเก็บศพรวมถึงการเคลื่อนย้าย เหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของระบบสาธารณสุขของประเทศที่กำหนดไว้ โดยปัจจุบันยึดถือปฏิบัติตามเอกสารของกระทรวงสาธารณสุข ชื่อ แนวทางการจัดการศพติดเชื้อหรือสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุงใหม่ เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทุกคนและทุกฝ่ายที่ต้องเกี่ยวข้องกับร่างผู้เสียชีวิตนั้น ๆ ประเทศไทยเราตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยาวนานเกินคาดหมาย เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดูแลบริหารจัดการระบบสาธารณสุขแล้ว เรายังมีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง รวมตัวกันเป็นกลุ่ม สร้างระบบงานอย่างมีแบบแผน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้วยกันในยามยาก ได้แก่ พี่น้องชาวอาสาสมัครชุมชน เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัย และกลุ่มประชาชนจิตอาสาต่างๆ เป็นต้น เมื่อมีการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 นอกโรงพยาบาล ทำให้คนในชุมชนล้วนมีความวิตกกังวล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย จึงต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลือให้มีผู้ปฏิบัติงานในการเคลื่อนย้ายศพของผู้ป่วย COVID-19 ออกจากพื้นที่ด้วยความรวดเร็ว การทำงานขั้นตอนเหล่านี้ ต้องพูดกันตรงๆว่า ผู้ปฏิบัติทั้งหลายคงต้องมาจากทีมงานที่มีความรู้ภายใต้ระบบแบบแผนในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการศพติดเชื้อหรือสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น นั่นก็คือ แนวทางการจัดการศพติดเชื้อหรือสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุงใหม่นั่นเอง และนอกจากมีความรู้แล้ว บุคคลเหล่านั้นยังต้องได้รับการฝึกฝน มีประสบการณ์จริงในการทำงานด้านผู้เสียชีวิตมาอย่างมีมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม จากที่สังคมได้รับรู้รับทราบถึงผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ พวกเราคงต้องขอใช้วาระนี้ เพื่อยกย่อง และขอบคุณทีมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของมูลนิธิ “ร่วมกตัญญู” ที่มีการจัดตั้ง “ ชุดปฏิบัติการพิเศษจัดการร่างผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อ ” ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนงานภาครัฐและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทีมงานดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อรองรับงานเคลื่อนย้ายศพผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ ผลงานนี้ได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีผู้ป่วยอยู่ในชุมชน และที่มีเหตุผู้เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการเสริมสร้างระบบความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน รวมถึงเป็นการแสดงถึงการรวมพลังกาย พลังใจ เพื่อต่อสู้ภาวะการแพร่ระบาดของโรคร้ายในครั้งนี้ไปด้วยกัน