วิกฤตโควิด-19 สร้างผลกระทบให้ประเทศไทยมากกว่า 1 ปี ในขณะนี้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการมีผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อ ส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มอาจจะเกิดความกังวลใจในเรื่องความปลอดภัยอาหาร อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงมีการให้ข้อมูลจากนักวิชาการมากมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจว่าอาหาร เนื้อสัตว์ ปลอดภัย เพียงใส่ใจความสะอาดและปรุงสุกก่อนรับประทาน
ล่าสุด กรมปศุสัตว์กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการกำกับ ดูแลและตรวจสอบมาตรฐานและความปลอดภัยในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากโรงฆ่าสัตว์ในพื้นที่เสี่ยงของการระบาดโควิด-19 เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ กรมฯ ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า ภายใต้มาตรการกำกับตรวจสอบดูแลความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน GAP โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหาร จะมีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน 2) ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต 3) ด้านสินค้า มีการตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด มีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต ประชาชนจึงมั่นใจได้ในมาตรการและมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ไร้โควิดภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ พร้อมแนะนำว่าเพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้นควรเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน
ขณะเดียวกัน นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่พบหลักฐานที่แสดงว่า กระบวนการปรุงประกอบ ทําให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 และข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อผ่านทางอาหารและภาชนะบรรจุอาหารค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะมีรายงานพบผู้ป่วยจากโรงงานหรือสถานประกอบการผลิตอาหาร แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า เชื้อไวรัสผ่านมาถึงผู้บริโภคผ่านอาหารหรือบรรจุภัณฑ์จากโรงงานที่มีคนงานติดเชื้อ
นอกจากนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เคยให้ข้อมูลว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ทำการเก็บหลักฐานและตัวอย่างเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีครึ่ง จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมายังไม่พบผู้ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารโดยตรง และจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 170 ล้านคนทั่วโลกขณะนี้ ยังไม่มีรายงานว่าติดเชื้อทางการรับประทานอาหารที่มาจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหาร ถึงแม้จะมีรายงานการตรวจพบรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 บนอาหารทะเล เนื้อสัตว์แช่แข็ง และบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่ส่วนใหญ่เป็นซากเชื้อ ซึ่งมีจำนวนก็น้อยมากไม่เพียงพอก่อโรคในคนหรือเป็นอันตราย
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ผู้บริโภคควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น และเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือสังเกตสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”