จากกรีณี “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” พิธีกรคนดัง เข้ารับการรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 และได้ออกมาไลฟ์สด ขณะพักรักษาตัวและยังใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ โดยบอกว่า มีคนโทร.มาและขอให้ออกจากโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้เจ้าตัวถึงกับคุมสติอยู่ ใส่อารมณ์และร้องไห้ออกมาด้วยความคับแค้นใจ นั้น ล่าสุด นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลดังกล่าวได้ชี้แจงข้อมูลในเบื้องต้นว่า ในส่วนของคุณณวัฒน์ นั้น ทางโรงพยาบาลได้ประเมินแล้วว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่อาการพ้นวิกฤต และมีอาการดีขึ้นอยู่ในระยะพักฟื้น (Step Down) ทางโรงพยาบาลจึงดำเนินการให้ผู้ป่วยไปพักฟื้นที่สถานพยาบาลชั่วคราว (Hospitel) หรือให้กลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่อง โดยวิธีกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ตามแนวทางการรักษาแบบ Step-down care ซึ่งจะทำได้โดยความสมัครใจของผู้ป่วย เพื่อจัดเตียงให้กับผู้ป่วยโควิด-19 รายอื่นซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใช้เตียงรักษาตัวในสถานพยาบาล และเมื่อผู้ป่วยเข้าพักที่ Hospitel หรือกลับไปที่พักที่บ้านแล้ว สถานพยาบาลเองก็จะมีการติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดทุกวันผ่านระบบ Video Call หรือ Teleconference มีอุปกรณ์วัดไข้และออกซิเจนส่งไปให้ มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน หากผู้ป่วยมีอาการทรุดลงก็จะมีการรับตัวผู้ป่วยกลับไปรักษา ณ สถานพยาบาลโดยทันที ซึ่งในกรณีของ นายณวัฒน์ ได้ครองเตียงผู้ป่วยมาแล้วเป็นเวลา 22 วัน ซึ่งแพทย์ก็ได้มีการประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นสามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ จึงมีการแจ้งให้ผู้ป่วยทราบแต่อาจจะด้วยการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ จึงทำให้ นายณวัฒน์ เกิดความเข้าใจผิดว่าทางโรงพยาบาลให้ออกจากโรงพยาบาลทั้งที่อยู่ระหว่างการรักษา ซึ่งแพทย์ก็ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับ นายณวัฒน์ แล้วว่าขั้นตอนดังกล่าวเป็นกระบวนการรักษาตามแนวทาง Step-down care ที่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย มิได้เลือกปฏิบัติเฉพาะกับ นายณวัฒน์ แต่อย่างใด รวมทั้ง ขณะนี้นายณวัฒน์ ก็ยังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล โดยกรม สบส.ก็ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ติต่อขอข้อมูลจากคณณวัฒน์ฯ ต่อไป นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยและญาติพี่น้อง รวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ตนจึงอยากฝากให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลเอกชนทุกราย ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดำเนินการด้วยความทุ่มเท เสียสละ ทั้งในด้านของการรักษาพยาบาล รวมถึงการสื่อสารกับผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะต้องมีความชัดเจนถึงกระบวนการรักษา และมีการชี้แจงถึงความจำเป็นในกรณีที่ต้องให้ผู้ป่วยรักษาตัว ณ ที่พัก เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความวิตกกังวล และขาดความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุข