"ศบค."แถลงผู้ติดเชื้อทำสถิติใหม่ 13,655 ราย ตายอีก 87 ราย "นายกฯ-ครม."เตรียมบริจาคเงินเพิ่ม สนับสนุนแก้ปัญหาโควิด-19 สั่งตั้งคณะกรรมการบริหารแล้ว "สปน."จัดถุงยังชีพแจก 19,537 ครอบครัวกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ขณะที่"ทบ."ใช้พื้นที่สโมสรทหารบก ตั้ง รพ.สนาม 400 เตียง
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,655 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,254 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 3,845 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 545 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 11 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 87 ราย สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 453,132 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 312,377 ราย เพิ่มขึ้น 7,921 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 3,697 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด
นายธีรภัทร กล่าวว่า จากการที่นายกฯ และครม. ได้บริจาคเงินเดือนเริ่มต้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 เพื่อเปิดบัญชี "สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหา โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)" โดยมีภาคเอกชน และภาคประชาชน บริจาคเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ต่อมา นายกฯ และครม. ได้เตรียมบริจาคเงินเพิ่มเติมอีก ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้ง คณะกรรมการมาบริหารเงินจากบัญชีดังกล่าว โดยส่วนตัวเป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ
นายธีรภัทร กล่าวว่า คณะกรรมการ ได้อนุมัติจัดเงินจากบัญชีดังกล่าวมาช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงปฏิบัติงาน ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดเงินช่วยเหลือไปแล้ว 126 ราย และกำลังพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติมในระยะต่อไป
นายธีรภัทร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้จัดถุงยังชีพเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ตามคำสั่ง ศบค. ที่ 10/2564 จึงได้จัดเงินบริจาคจากบัญชีดังกล่าว และจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี สนับสนุนรวม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร ในการจัดถุงยังชีพแจกจ่ายให้ครอบครัว กลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง รวมจำนวน 19,537 ครอบครัว ทั้งนี้ สิ่งของในถุงยังชีพประกอบด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสาร อาหารกระป๋อง รวมทั้งได้เพิ่มหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เจลแอลกอฮอล์ และยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีความจำเป็นในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 ที่รุนแรงขึ้นช่วงนี้
นายธีรภัทร กล่าวว่า เพื่อส่งมอบกำลังใจ และความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งร่วมช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สนับสนุนด้านสาธารณสุขที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงาน และเพื่อการสนับสนุน อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมในระยะต่อไป
นายธีรภัทร กล่าวว่า ขอเชิญชวนร่วมบริจาคเงินสนับสนุนได้ที่ บัญชีเลขที่ 067-0-06895-0 ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ชื่อบัญชี "สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)" โดยยอดเงินบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติงานที่บ้านพัก (Work from Home) ภายในกรมทหารราบที่ 1 รอ. โดยเมื่อเวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อหารือมาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน รวมถึงจับตามาตรการเยียวยานายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และอาชีพอิสระเพิ่มเติม ในพื้นที่ที่ประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัด
ทั้งนี้ ช่วงต้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ สั่งทุกหน่วยงานทำทุกวิถีทาง ลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่รออยู่ที่บ้านและผู้ที่คอยรถมารับ จะต้องไม่ให้ไปอยู่ตามถนนหนทาง ต้องไม่ให้เห็นภาพนี้อีกต่อไปอีก ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่สาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ให้ช่วยกันทำ และคิดว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลสนาม
วันเดียวกัน พลโทสันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ผอ.ศบค.19 ทบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม./รมว.กห. มีข้อห่วงใยต่อประชาชนในสถานการณ์การแพร่ะระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางส่วนยังตกค้างไม่ได้เข้ารับการรักษาตามระบบ ทำให้เกิดข้อกังวลใจทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติที่อาจมีการแพร่กระจายเชื้อต่อได้ และสั่งการให้ทุกเหล่าทัพระดมทรัพยากรดูแลประชาชน ขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่เดิมและเพิ่มการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่หน่วยทหาร
ในส่วนของกองทัพบก มีสถานภาพโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศที่ได้สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์, สิ่งอุปกรณ์และสถานที่ในหน่วยทหาร ร่วมกับ สธ.จังหวัด รวม 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,323 เตียง และล่าสุด พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้หน่วยทหารทั่วประเทศ ใช้อาคารสโมสรหรืออาคารเอนกประสงค์ในค่ายทหารทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลสนามศูนย์คัดกรอง เพื่อประเมินอาการ และดูแลผู้ป่วยสีเขียวในเบื้องต้น ก่อนประสานส่งต่อให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามระบบของ สธ. แต่ละพื้นที่ต่อไป ซึ่งในพื้นที่ กทม. จะใช้สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี จัดเตรียมตั้งเป็น "โรงพยาบาลสนามศูนย์คัดกรอง (สโมสร ทบ.)" เพื่อเป็นศูนย์แรกรับผู้ป่วย ประเมินและดูแลผู้ป่วยสีเขียวในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ก่อนส่งต่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ สธ. กำหนด เมื่อพร้อมเปิดดำเนินการจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 300-400 เตียง
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เพื่อดูแลทหารกองประจำการผลัด 1/2564 ที่เพิ่งเข้าประจำการใน 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา และเรื่องมาตรฐานการฝึกนั้น ตั้งแต่วันที่ 6 -20 ก.ค.64 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกในพื้นที่ค่ายทหารทั้ง 37 แห่งได้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกให้กับทหารใหม่ตามแผนที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก ศบค. มีการลงทะเบียนข้อมูลในระบบสาธารณสุข ประเมินสภาพร่ายกายผู้ที่จะเข้ารับการฉีด ประวัติสุขภาพ พร้อมให้คำแนะนำสังเกตอาการหลังฉีด
ทั้งนี้ช่วง14 วันที่ผ่านมากองทัพบกได้ฉีดวัคซีนCOVID-19ให้ทหารใหม่ไปแล้ว 33,561 นาย คิดเป็น 96% ของผู้ที่เข้ามาประจำการ โดยมีทหารใหม่บางนายได้รับวัคซีนมาแล้วก่อนเข้าประจำการ ส่วนผู้ที่มีข้อจำกัด สาเหตุจากร่างกายยังไม่พร้อมในขั้นต้นหน่วยฝึกทหารใหม่ได้ชะลอการฉีดและให้เข้ารับวัคซีนเมื่อพร้อมในลำดับต่อไป ในภาพรวมการฉีดวัคซีนทหารใหม่ในครั้งแรกนี้ดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย ทหารใหม่ส่วนใหญ่ดีใจที่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้มั่นใจในสุขภาพและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของตนเอง ช่วยคลายความกังวลของครอบครัว
สำหรับการตรวจคัดกรองหาเชื้อตั้งแต่วันแรกของการรายงานตัว โรงพยาบาลค่ายประจำพื้นที่ด้วยการตรวจร่างกาย ซักประวัติ แยกประเภทกลุ่มเสี่ยง การตรวจหาเชื้อ และการส่งตรวจซ้ำด้วยวิธี RT- PCR จากนั้นคัดแยกประเภทของกลุ่มทหารใหม่ตามประวัติ อาการ และความเสี่ยง ก่อนส่งทหารใหม่เข้ารับการกักตัวเพื่อสังเกตุอาการ 14 วัน ส่วนทหารใหม่ที่มีอาการ มีผลตรวจเป็นบวกหรือพบการติดเชื้อได้ถูกส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ.ค่าย หรือ รพ.สนาม ที่จัดเตรียมไว้ เมื่ออาการกลับสู่ปกติและตรวจไม่พบการติดเชื้อ ก็จะส่งตัวเข้าหน่วยฝึกทหารใหม่เพื่อรับการฝึกต่อไป สำหรับผลการตรวจ 34,822 นาย พบติดเชื้อมาก่อนเข้าประจำการจำนวน 69 นาย คิดเป็น 0.19% ของทหารใหม่ผลัดนี้ทั้งหมด โดยตรวจพบในวันแรกที่เข้าหน่วยจำนวน 41 นาย และตรวจพบเพิ่มในระหว่างกักตัวสังเกตุอาการอีก 28นาย ซึ่งหน่วยฝึกได้นำทั้งหมดเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลค่ายประจำพื้นที่ เรียบร้อย