บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) คือยุคทองของท้องถิ่น
การปกครองท้องถิ่นไทย ถือกำเนิดเริ่มจากยกฐานะ “สุขาภิบาลท่าฉลอม” (ปัจจุบันเทศบาลนครสมุทรสาคร) จังหวัดสมุทรสาคร ในปี 2448 นับเวลาได้ 118 ปี แต่พัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของไทยยังล้มลุกคลุกคลานไม่ก้าวหน้า ในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 “ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน” เป็น “ยุครุ่งเรืองยุคทอง” เพราะมีการตรากฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนในการกระจายอำนาจขึ้นในปี 2542 ที่ต่อเนื่องจากกฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (ใช้บังคับตั้งแต่ 2 มีนาคม 2538) ที่มีการยกฐานะสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จนครบทั่วประเทศในปี 2538-2542 และมีการเปลี่ยนรูปแบบสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากนายก อปท.ที่มาจากสภา เป็นนายก อปท.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในปี 2543-2546 ที่เรียกว่า “การบริหารแบบสภาและผู้บริหารที่มีอำนาจมาก” (Strong - Executive) หรือ “รูปแบบนายกเทศมนตรีเข้มแข็ง” (The Strong Mayor Form) ทั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ตำนานสามทหารเสือ
คือ “ปลัด-คลัง-ช่าง” อบต.รุ่นบุกเบิก แปลงมาจาก “ครูคลังช่างหมอ” สี่งานหลักในการพัฒนาชนบท (Rural Development) ได้มีการยกฐานะสภาตำบลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท ขึ้นเป็น อบต. ครบทั่วประเทศ มีการบรรจุเจ้าหน้าที่รุ่นแรกในช่วงปี 2540-2542 ที่เรียกฉายาว่า “สามทหารเสือ” ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพราะมีการยกฐานะ อบต.รุ่นแรกปี 2538 จำนวน 1,617 แห่ง อบต.รุ่นที่สองต้นปี 2539 จำนวน 2,143 แห่ง อบต.รุ่นที่สามปลายปี 2539 จำนวน 3,637 แห่ง รวมทั้งสิ้น 6.397 แห่ง
ในที่นี้ขอเสนอปัญหาการบริหารจัดการพัฒนาภายในจิปาถะที่พบเห็นบ่อยหลากหลายของ อปท.ขนาดเล็ก เช่น อบต.ที่มีจำนวนมากที่สุด ที่ควรพิจารณาแก้ไขเร่งด่วน
ภาพรวมปัญหาการบริหารจัดการพัฒนาท้องถิ่น
(1) ปัญหาการทุจริตครบวงจร การทุจริตคอรัปชัน มีทุจริตเชิงนโยบาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง (พัสดุ) งบประมาณไม่เกิน 5 แสนบาท ผู้บริหารรวมหัวหน้าฝ่ายประจำ มีพฤติกรรมชงเองกินเอง มีปัญหาผู้นำกินหัวคิวหักหัวคิว รวมทั้งการจัดสรรงานจ้างให้พวกพ้อง หรือการทับซ้อนในผลประโยชน์ ฯลฯ เป็นต้น กระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานรวดเร็ว สตง. ปปช. ปปท. เมื่อทุจริตต้องเด็ดขาด รวดเร็วบางแห่งใช้เวลา 10 ปี ยังไม่ตัดสินชี้มูล หรือตัดสินแล้ว ผู้กำกับดูแลมิได้ดำเนินการสอบสวนถอดถอน ทำให้นักการเมืองไม่เกรงกลัว หรือ หากนายกถูกชี้มูลเรื่อง ทุจริต ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ กฎหมายที่เอาผิดนักการเมืองควรเป็นบทหนัก ไม่ใช่เอาหนักเฉพาะกับข้าราชการฝ่ายประจำ
(2) ปัญหาเอกสารสิทธิ เนื่องจาก อบต.ชนบทหลายแห่งเป็นเขตพื้นที่ป่า หรือป่าสงวน มีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ทำกิน ราษฎรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน (โฉนด หรือ น.ส.3)
(3) ปัญหาการจัดการขยะ โดยเฉพาะ อปท. ที่เป็นเขตเมือง ไม่มีที่ทิ้งขยะ รวมทั้งขยะพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะติดเชื้อ เป็นต้น โดย “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร” (Clusters) กรม สถ. 2561
(4) ปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ว่าจะหาน้ำจากที่ใด บริหารการจัดการน้ำ น้ำท่วมเมือง การวางระบบท่อ การไหลเวียนของน้ำ ฯ ด้วย และ รวมปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า สาธารณูปโภคสาธารณูปการอื่น ฯ มีการถ่ายโอนถนนลาดยางที่ต้องคืนให้กรมทางหลวง เพราะ เกินศักยภาพ อบต. ต้องใช้เงินเยอะ ไม่มีงบซ่อม ยกเว้น อบต./ทต.ใดที่ผู้บริหารมีคอนเน็กชั่นกับนักการเมืองระดับประเทศจึงจะได้งบมาซ่อมแซมปรับปรุงถนน ภารกิจถ่ายโอนมา อปท. แต่บุคลากร อปท.ไม่พอ ระเบียบปฏิบัติเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่มาตรฐาน เพราะมีการยกเว้น ผ่อนปรน จนอาจเสียศูนย์ หรือมีปัญหาทางปฏิบัติ
(5) ปัญหารายได้ อปท.ทั้งที่จัดเก็บเองและรัฐจัดสรรให้มีไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพราะ รัฐบาลลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภดส.)มาก ท้องถิ่นปัจจุบัน รายได้จึงลดลงมาก ขาดงบบริหารจัดการ ขาดงบพัฒนาท้องถิ่น มีแต่แผนพัฒนาท้องถิ่น 5 ปี แต่ไม่มีเงินงบประมาณพัฒนาเพียงพอ โดยเฉพาะใน อปท.ขนาดเล็ก เพียงพอเฉพาะรายจ่ายประจำเท่านั้น สำหรับการใช้จ่ายเงินสะสม ก็มีน้อย หรือนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นตามนโยบายรัฐบาล เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อปท.บางแห่งถูก สตง.ตรวจสอบการจ่ายเงินสะสมผิด สตง.ไม่ให้ใช้เงินสะสม ต้องมีการคืนเงินสะสม เช่น สภาและผู้บริหารฯ จ่ายเกิน หรือ จ่ายโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมายโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ทำให้การปิดงบดุลประจำปีไม่ได้มาหลายปีแล้ว
(6) ปัญหาความยากจน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ยังไม่มีการปรับขึ้น รัฐบาลควรทำทันที เป็นปัญหาเรื้อรังมานานตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2554-ปัจจุบัน เช่นเขตเศรษฐกิจ เขตเมืองใหญ่ฯ เพราะ น้ำมันที่ปรับขึ้น ให้ปรับลงทุกชนิด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นทุกชนิดต้องควบคุม ทำความเป็นอยู่ในเศรษฐกิจชาวบ้านรากหญ้า ส่งเสริมเศรษฐกิจ อาชีพ พืชผลการเกษตร การค้าขาย ให้คนประชาชนมีรายได้ อยู่ดีกินดี ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล การพัฒนา ต้องพัฒนาคนเป็นอันดับแรก สร้างงาน สร้างอาชีพโดยเร็ว ต้องมองความสำคัญของคนเป็นหลัก นี่คือผู้นำที่แท้จริง
(7) ขั้นตอนการจัดซื้อจ้างมีแต่หลักฐานยุ่งยากไม่ลดขั้นตอน สร้างปัญหาให้ผู้ปฏิบัติงาน นี่ขนาดยุ่งยากก็ยังมีการทุจริตกันได้ ก็เพราะมีช่องทางการทุจริตมาก ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติลำบากใจ ปัญหานี้ต้องแก้ที่กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง บางอย่างเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพราะ ขั้นตอนยุ่งยากแล้วยังไม่พอ ต้องระวังพวกชงเองกินเอง มีส่วนได้เสีย ต้องระวังการทำผิดระเบียบ ผิดกฎหมายฮั้ว การล็อกสเปก การเอื้อประโยชน์ฯ ตามมาตรา 12 ฯลฯ เป็นต้น ยกตัวอย่างปัญหา เช่น การลดขั้นตอนพัสดุ ควรมีระบบยืมเงินพร้อมส่งใช้ โดยการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง(ไม่เกิน)ไว้ โดยนำใบเสร็จร้านที่เข้าระบบ เป็นหลักฐานคืนเงิน ปัญหาระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนฯ ปัญหาการส่งเสริมพัสดุผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ตามหนังสือสั่งการ ว 89 มีขั้นตอนพัสดุเบิกจ่ายที่ลำบากมากขึ้น ควรแก้ไขให้สะดวก ง่าย ผ่อนปรนดูที่ความสะดวก สมประโยชน์ คุ้มค่า และเจตนา ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก
(8) ปัญหาการควบคุมการติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) เช่น ในเขตเมือง เขตที่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีพนักงานติดโควิดมาก แต่ขาดมาตรการป้องกันควบคุมที่ดี มีมารับคนไข้ออกไป แต่ไม่มีการพ่นยา เกรงการแพร่กระจายของโรคมาติดเด็กข้างนอกอันตรายมาก ในการเปิดชั้นเรียน หรือ ศพด.
(9) ปัญหาระบบแผนหนึ่งเดียว (One Plan) เช่น แผนพัฒนาท้องถิ่น (16.1) จะต้องเอาแผนแม่บทชุมชนหรือหมู่บ้านไปบรรจุไว้ในแผนตำบล แล้วบรรจุไปไว้ในเทศบัญญัติ (16.2) ไม่ใช่บรรจุแผนเอาตามนโยบายของผู้บริหาร (16.3) แผนจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อจัดความสำคัญของโครงการ ก่อนหลังตามความแร่งด่วน ไม่ใช่เขียนตั้งไว้เฉยๆ เต็มไปหมดแล้วจัดทำโครงการไม่ได้
(10) อปท. มีจำนวนมากที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ขาด งบประมาณ และศักยภาพการบริการจัดการบริการสาธารณะ เพื่อการพัฒนาให้ประชาชนในพื้นที่ ควรมีการ “ควบรวม อปท.” (Amalgamation, Merging Local Unit) อบจ.ควรเปลี่ยนโครงสร้าง บทบาทหน้าที่เสียใหม่ หรือ สมควรยุบเพราะไม่มีพื้นที่พัฒนา ไม่ใช่การจัดสรรให้งบ อบจ.ปีละมากๆ เพื่อไปทำในเขตพื้นที่เทศบาลหรือ อบต. ควรจัดงบลงโดยตรงเทศบาลหรือ อบต. เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ย่อมรู้ปัญหาความเดือดร้อนของตนดีกว่า ควรมีราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้น เหมือนเช่นญี่ปุ่นที่ทำมานานแล้ว เพราะว่า ปัญหาความไม่เข้าใจและตระหนักในหน้าที่และอำนาจในการปกครองครองส่วนท้องถิ่น ที่ส่วนกลางส่วนภูมิภาคเข้าไปมีความรับผิดชอบ ก้าวก่าย ควบคุมบังคับบัญชา ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนนำไปสู่ปัญหาท้องถิ่นอื่นตามมาไม่รู้จบ
(11) สุดยอดของปัญหาที่ทับถมสะสมกันมาที่สุดยอด เช่น ปัญหางบประมาณที่ล่าช้า กระบวนการ red tape ควรยกเลิกการรายงานในระบบต่างๆ ที่ต้องรายงานต่อกรม ปัญหาการรายงานที่ซ้ำซาก ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อ อปท.แต่หน่วยงานอื่นเอาไปใช้เป็นผลงานตัวเอง ปัญหาการประเมินที่ซ้ำซ้อน ปัญหาการสั่งการที่คลุมเครือ ปัญหาการรายงานเร่งด่วนสั่งตอนเช้า จะเอาตอนเที่ยง ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติในการทำงานมีมากทุกกระทรวง ทบวง กรม การกระจายอำนาจขอให้กระจายจริงมิใช่กระจายเพียงชื่อ หรือกระทรวง กรมอื่นกระจายงานให้ทำ ในระบบรายงานต่างๆ เช่น ELAAS, e-GP ฯลฯ เป็นต้น
(12) รัฐบาล จงใจเลี้ยงนักการเมืองท้องถิ่นเอาไว้เป็นฐานเสียงเชิง "ประชานิยม" ตุนคะแนนเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลในสมัยหน้า เช่น ออกระเบียบข้อยกเว้น อำนาจวงเงินผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดจ้างวิธีเฉพาะเจาะจงจากวงเงิน 100,000 บาท เป็น 500,000 บาท จึงมีการแบ่งซอยโครงการเหลือไม่เกิน 500,000 บาท เป็นการผูกขาดผู้รับเหมา ล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ ฯ ใครให้ส่วนต่างเงินทอนดีกว่าก็เอาคนนั้น กระทบต่อคุณภาพประสิทธิภาพของงานซื้องานจ้าง สูญเสียงบฯ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำโครงการด้วยซ้ำ ส่งผลกระทบต่อนายช่างหรือผู้ควบคุมงานจ้าง(ก่อสร้าง) ข้าราชการผู้ตรวจรับงานจ้างเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ (สตง. ป.ป.ช. ป.ป.ท.) มาตรวจสอบ ควรยกเลิกวงเงินอำนาจการพัสดุเท่าเดิมเพียง 100,000 บาท นายกฯ ต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายจัดชื้อจ้างและต้องมีคุณธรรม
(13) ให้ลดบทบาทอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ในการกำกับดู หรือการควบคุมลง หรือ ควรมีมาตรการ ดำเนินการกรณีที่ผู้กำกับดูแลฯ ละเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามกฎหมาย หรือ ผู้กำกับดูแลใช้อำนาจเกินกฎหมายกำหนด เป็นต้น ในทางกลับกัน มีปัญหาว่าทุกหน่วยงานราชการสั่งใช้และขอทั้งงบทั้งคนของ อปท.ได้ โดยนายกฯและปลัด ที่ไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายบัญญัติ หรือด้วยความเกรงใจ อยากออกหน้า ฯลฯ ซึ่งไม่ถูกต้องและอาจผิดกฎหมายด้วย
(14) ชาวบ้านอยากมีการเลือกตั้ง อบต. ใจจะขาดแล้ว เพราะไม่ได้เลือกตั้งมานานมากกว่า 7-10 ปีแล้ว อยู่กันแบบเดิมมานานพอแล้ว จึงมีแต่ปัญหาจนแก้ไม่ได้ ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งนั่นแหละ จึงจะได้แก้ปัญหาตรงจุด อาจเหมือนกันเกือบทุก อปท. โดยเฉพาะ อปท.เล็กๆ ที่นายกอยู่ยาวนาน บางคนจึงไม่ค่อยสนใจงานพัฒนา ต้องจัดการเลือกตั้งโดยด่วน และให้มีเลือกตั้งทุก 4 ปี
ปัญหาเรื้อรังการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
(1) ข้อสังเกตองค์กรกลางบริหารงานบุคคล (CPO : Central Personnel Organization or CPA : Central Personnel Agency) หรือที่เรียกย่อว่า “ก. กลาง” รวม 3 ก. คือ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. และ ก. จังหวัดทั้ง 228 แห่ง (76x3=228 แห่ง) คือตัวปัญหา ควรยุบรวมเหลือเพียง ก. เดียว ที่เหลือ ก.จังหวัดให้เป็น “อนุ ก.” (ผู้ช่วยเหลือ) ทั้งหมด เพราะ องค์กรกลางต้องมีเอกภาพ และ มีลักษณะโครงสร้างองค์กรเป็นแบบ "คณะกรรมการอิสระ" ที่เรียกว่า "Commission" มิใช่ "Committee"
(2) ปัญหาผู้บริหารมีอำนาจมากเกินไป (Tremendous) มากจนข้าราชการต้องยอม มิเช่นนั้นจะเสียสิทธิเจริญก้าวหน้า เช่น อำนาจการบริหารงานบุคคล งานพัสดุฯ การตัดสินใจอยู่ที่นายกคนเดียว เห็นว่าการบริหารงานบุคคลควรเป็นอำนาจของปลัดท้องถิ่นช่วยกลั่นกรอง ตรวจสอบตามระเบียบฯ อปท.หลายแห่งบุตรหลานผู้บริหารท้องถิ่นเต็มสำนักงาน การสั่งการบังคับบัญชาไม่มีวินัยสั่งการยาก บริหารงานคนล้นเกินงาน แต่งานจริงก็ยังขาดอยู่ เพราะเอาคนไม่ตรงงานมาอัดไว้เกิน เป็นปัญหาในแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกัน เพียงแต่ฝ่ายบริหารจะเริ่มแก้ไขให้หรือไม่ อย่างไร แต่ก็ไม่ทำ
(3) ขาดความยุติธรรมตามระบบคุณธรรมมากที่สุด ขาดความก้าวหน้าในสายงาน ขาดการ “เติบโตตามสายงานอาชีพ” (Career Path) ความก้าวหน้าในสายงานไม่มีอยู่จริง ย้ายยาก ปัญหาการพิจารณาความดีความชอบ มีการเลือกปฏิบัติ ผู้นำ ผู้บังคับบัญชา หัวหน้างานต้องเป็นกลางอย่าลำเอียง ปัญหาข้าราชการที่ไม่สนองนโยบายโดนกลั่นแกล้ง ถูกแป้กขั้น ไม่เลื่อนระดับ ไม่ให้กำหนดกรอบตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ชำนาญงาน อาวุโส เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานดีเพียงใดก็ถูกตำหนิ แม้พยายามอดทนเพื่อให้การเลือกตั้งผ่านไปได้นายกคนใหม่อาจจะดีขึ้น แต่ก็ได้แต่เฝ้ารอการเลือกตั้ง อบต.ที่จะมีขึ้นอีกนาน สุดท้ายก็ต้องย้ายหนี ชำนาญการก็ไม่ได้ทำ เพราะย้ายไปตำแหน่งที่ไม่เกื้อกูล ข้าราชการสายงานผู้บริหาร ปลัด ผอ.กอง เป็นคนของนักการเมือง ข้าราชการสายปฏิบัติอยู่ยากมีทางเดียวคือย้ายออก
(4) ขาดบุคลากรตามกรอบอัตรากำลัง เช่น ผอ.กอง พัสดุ ช่าง จัดเก็บรายได้ฯ มีไม่ครบ บริบทของผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานจ้าง บางรายยังไม่เข้าใจข้อกฎหมายและหน้าที่ของตนเอง ยังมีระบบเส้นสายอุปถัมภ์เด็กฝาก หรือได้ตำแหน่งแต่ไม่เหมาะสมกับปริมาณงานที่ทำ (ไม่ทำงาน) การขาดบุคลากรเฉพาะทางนายช่างโยธาควรสรรหาด่วนที่สุด ขาดอัตราตำแหน่งสายงานผู้บริหารที่ว่างนานมาก การชะลอสอบยิ่งยาวนาน ควรให้มีโอนย้ายก่อน (ปลดล็อกตำแหน่ง) ปัญหาบุคลากรส่วนเกิน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกินจำเป็น เพราะการกำหนดกรอบโครงสร้างที่ไม่สมดุล เช่น พนักงานจ้างหรือลูกจ้าง (เหมาบริหาร)
(5) ปัญหาสมรรถนะ ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ เช่น สมรรถนะต่ำ ทำงานไม่เป็น ทำเฉพาะเรื่องเอาหน้า ออกอีเวนต์ หาผลประโยชน์ส่วนตน นิยมทุจริต คนล้นงาน เจ้าหน้าที่เช้าชาม เย็นชาม หลายคนขี้เมา ขาดขวัญกำลังใจ นายช่างเป็นผู้รับเหมา ไม่มีวินัย ชู้สาว มาสาย ขาดความรับผิดชอบ ฯลฯ ในสายงานผู้บริหารฝ่ายประจำ เป็นเจ้าที่อยู่โยงนานเกินไป ผูกขาด อิทธิพล รากงอก ฯลฯ ควรย้ายทุกรอบ 4 ปีป้องกันการสร้างฐานอำนาจที่ฉ้อฉล การอบรมข้าราชการบรรจุใหม่จำเป็นยิ่งและมีหลักสูตรที่ชัดเจน
(6) ตามหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเปิดเผยจำนวนกรอบอัตรากำลัง และอัตราว่างของแต่ละท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ช่วยเหลือพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ เช่น ข้าราชการ ก.พ.มีการเผยแพร่ประกาศเปิดเผย แต่กรณีท้องถิ่นไม่มีเผยแพร่ เพราะเหตุใด
หลายปัญหาข้างต้นเป็น “ปัญหาโลกแตก” เดิมๆ ของท้องถิ่น ทางออกที่ขอนำเสนอก็คือ ท้องถิ่นต้อง (1) มี “ประมวลกฎหมายท้องถิ่น” และ (2) มี "สำนักงานคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ" (สทช.)