สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เปิดเผยผลการวิจัยของหน่วยงานสาธารณสุขในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ศึกษาติดตามการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขนานต่างๆ ให้แก่ประชาชนของทางการในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยวารสารดังกล่าว ระบุว่า วัคซีนขนานไฟเซอร์ ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ สหรัฐฯ และบริษัทไบโอเอ็นเทค เยอรมนี จำนวน 2 โดส มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ได้ที่ร้อยละ 88 และป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา ได้ถึงร้อยละ 93.7 ส่วนวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จำนวน 2 โดส สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ได้ที่ร้อยละ 67 และเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา ได้ที่ร้อยละ 74.5 พร้อมกันนี้ คณะนักวิจัยของหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ ยังเผยด้วยว่า จากตัวเลขที่ออกมา ทำให้บ่งชี้ได้ว่า วัคซีนทั้งสองขนานข้างต้น มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในเรื่องของประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา เมื่อเปรียบกับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา หลังจากได้รับวัคซีนจำนวน 2 โดส ขณะที่ ประสิทธิภาพด้านการป้องกันอาการป่วยหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ปรากฏว่า วัคซีนขนานไฟเซอร์ หากได้รับการฉีดเพียง 1 โดส ก็สามารถป้องกันได้เพียงร้อยละ 36 เท่านั้น เช่นเดียวกับวัคซีนขนานแอสตราเซเนกา หากได้รับการฉีดเพียงโดสแรก ก็ป้องกันอาการป่วยได้เพียงร้อยละ 30 ดังนั้น จึงควรได้รับวัคซีนให้ครบทั้งสองโดส เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา