นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า กรมสบส. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพเด็กและเยาวชน มุ่งเน้นในเรื่องปลูกฝังพฤติกรรมการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานตามสุขบัญญัติแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ทราบว่าความเจ็บป่วยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็งอยู่เดิม และยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) ซึ่งเป็นกลุ่มน้องๆ เด็กและเยาวชนที่มีอายุ 11 ปี ขึ้นไป ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ที่สมัครใจเป็นจิตอาสาด้านสุขภาพ มีความมุ่งมั่นเสียสละ โดยบทบาทของ ยุว อสม. ก็จะทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารสุขภาพ ถ่ายทอดความรู้และวิธีการปฏิบัติตัวตามสุขบัญญัติ รวมถึงความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องอื่นๆ ให้กับเพื่อนๆ คนในครอบครัว คนใกล้ชิด และคนในชุมชน ถือได้ว่า ยุว อสม.จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ต่อไป ด้าน นางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ สถานศึกษาจะเริ่มเปิดเรียน หรืออาจสลับกับการเรียนออนไลน์ เราทราบกันดีว่าวัยรุ่นมีพฤติกรรมชอบการรวมกลุ่ม สอดคล้องกับผลการสำรวจที่มีการรักษาระยะห่างน้อยลงเรื่อยๆ ที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ยังไม่ได้รับวัคซีน กองสุขศึกษาจึงขอฝากคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับวัยรุ่นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนอย่างปลอดโรค ดังนี้ 1. นอนหลับให้เพียงพอวันละ 8-10 ชั่วโมง ควรตื่นนอนตามเวลา 2. อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และของใช้ส่วนตัว (โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา เป็นต้น) และพื้นที่ส่วนตัวด้วยน้ำยาทำความสะอาด หมั่นเปิดหน้าต่างระบายอากาศ อย่างสม่ำเสมอ 3. เลือกกิน/ซื้ออาหารปรุงสุกใหม่และกินให้ครบ 5 หมู่ ผักผลไม้ 5 สี (ลดหวาน มัน เค็ม) แยกกินอาหารชุดของตัวเอง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน 4. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ อย่างน้อยก่อนรับประทานอาหาร หลังการขับถ่าย และสัมผัสสิ่งของสาธารณะเมื่อกลับถึงบ้านควรรีบล้างมือ อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย 5. ควรวางแผนทำกิจกรรมในช่วงที่ต้องหยุดเรียน เพื่อให้มีความสมดุล ทั้งกิจกรรมที่ตนเองถนัด และเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น พัฒนาตนเองโดยการหาความรู้เพิ่มเติมผ่านระบบการเรียนออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เป็นต้น 6. ออกกำลังกาย/เล่นกีฬาที่ถนัดอยู่ที่บ้าน อย่างน้อยวันละ 20-60 นาที เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี ทั้งนี้ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง 7. กรณีต้องออกนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส ใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น 8. หยุดกิจกรรมทางสังคม (วันเกิด ปาร์ตี้ สังสรรค์) เปลี่ยนการนัดพบเพื่อนนอกบ้านมาคุยผ่าน วิดีโอคอล เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ เป็นต้น 9. มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งวิธีการป้องกันต่างๆ ที่ทำให้ตนเอง จะได้ไม่เป็นทั้ง “ผู้รับและผู้ให้” โรคที่สามารถแพร่ระบาดให้แก่คนในสังคม 10. กรณีที่เดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดหรือต่างประเทศ ควรมีการแยกตนเองเพื่อสังเกตอาการ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย โรคเรื้อรัง เป็นต้น การมีสุขภาพดีเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งในช่วงเวลานี้เชื่อว่าหลายคนคงหันมาใส่ใจสุขภาพตนเองเพิ่มขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ประชาชน สามารถติดต่อผ่านช่องทางการติดต่อกองสุขศึกษา ผ่านช่องทาง Facebook และเว็บไซต์ กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ http://www.hed.go.th