ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ในระบบ Simulation ซ่อมแซมสถานีอวกาศที่ชำรุดเนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชน เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด จาก 176 ทีมทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้รางวัลชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทย ได้ไปร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ของ NASA ในระบบ Simulation ชิงแชมป์เอเชียในรอบ Programming Skills Round ถ่ายทอดสดการแข่งขันแบบออนไลน์ ผ่านทาง YouTube Live: https://youtu.be/E3WFFd0wfGs จากองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ของเอเชียมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ในระบบซิมูเลเตอร์ ให้เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายและยิงแสงเลเซอร์ได้เข้าจุดกึ่งกลางเป้าทำคะแนนได้สูงสุดของการแข่งขัน
ทั้งนี้ ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาครอง ด้วยคะแนน 89.82 pt (A Class) ส่วนทีมอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม GeminiPYTW จากไต้หวัน คะแนน 80.04 pt (A Class) และทีมอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม Enigma Systems จากบังคลาเทศ คะแนน 76.65 pt (A Class) ซึ่งทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) เป็นตัวแทนประเทศไทยจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีสมาชิก 3 คน ประกอบด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หัวหน้าทีม) เด็กชายเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ด้าน นายธฤต วิทย์วรสกุล หรือน้องธฤต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 1 ในทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) เล่าถึงทีมให้ฟังว่า “พวกผม 3 คนเจอกันครั้งแรกจากการที่ได้เรียนอยู่แผนการเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. (STEM) แล้วได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่พวกผมเริ่มได้รู้จักกันจริงๆ ตอนที่ทำงานอยู่ในชมรมหุ่นยนต์ จึงได้มีโอกาสพูดคุยและปรึกษากัน จึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge” ในครั้งนี้ ซึ่งพวกผมทั้ง 3 คน รู้สึกสนุกกับการเขียนโปรแกรม โดยเฉพาะตอนที่เห็นโปรแกรมของเราสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง ผมชอบการที่เราสามารถนำเอาไอเดีย ในสมองของเรา แล้วเขียนออกมาเป็นโปรแกรม แล้วเกิดเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ออกมา พวกผมคาดหวังกับงานนี้เพื่อที่จะมาหาประสบการณ์การเขียนภาษาใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนา Code สำหรับ Android และสิ่งที่ผมคิดว่าการที่พวกผมประสบความสำเร็จและได้รางวัลชนะเลิศ คือความพยายามในการที่จะทดสอบหลายๆ ครั้งโดยทดสอบให้ครบทุกรูปแบบ และพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ออกมาดีที่สุดโดยไม่ย่อท้อ และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมของผมประสบความสำเร็จ”
น้องธฤต เล่าให้ฟังต่อว่า การแข่งขันในรอบ Programming Skills ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นการนำไฟล์ APK ของตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่รอบการแข่งขันชิงแชมป์ของแต่ละประเทศ เข้ามาประมวลผลในระบบซิมูเลเตอร์ของ JAXA ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศญี่ปุ่น คิมิยะ ยูอิ และ ศ.ดร.ชินอิจิ นากาซึกะ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และประกาศผลการแข่งขันโดยแสดงคลิปวิดีโอการปฏิบัติภารกิจของหุ่นยนต์ Astrobee ตามโปรแกรมที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนเขียนเอาไว้ ซึ่งตอนประกาศผลการแข่งขันว่าทีมเราได้ที่หนึ่งก็รู้สึกดีใจมาก
“ผมและเพื่อนแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ และแต่ละคนก็จะทำงานในส่วนที่ได้รับมอบหมายและหากใครมีปัญหาก็จะมานั่งปรึกษาหาวิธีการแก้ปัญหากัน ปัญหาที่พบส่วนหนึ่งคือ log หรือข้อมูลการบันทึกจากซิมูเลเตอร์ที่ได้ออกมา สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้วิเคราะห์ได้ยาก พวกผมจึงแก้ปัญหาโดยการ เขียน Code มาอ่านตัว Logfile เพื่อดึงเอาเฉพาะข้อมูลที่ต้องการออกมา แล้วเก็บออกมาเป็นไฟล์ csv เพื่อให้สามารถนำเข้าไปอ่านใน Excel / Google sheet แล้วเปรียบเทียบถึงความแตกต่างในการ Simulation แต่ละครั้ง เพื่อให้สามารถปรับแก้ Code ได้ตรงจุด ซึ่งในทุกขั้นตอนมันยากมากแต่ก็ต้องค่อยๆ พยายามแก้ไขและผ่านพ้นไปให้ได้”
สุดท้ายพวกผมอยากฝากถึงทุกๆ คนทำในสิ่งที่ตนเองรักและชอบต่อไป อย่าทิ้งในสิ่งที่ตัวเองชอบแต่ที่สำคัญถึงแม้ว่าพวกเราจะทำสิ่งที่รักที่ชอบกันแต่ก็ไม่ควรทิ้งการเรียนเพราะว่าการเรียนนั้นก็เหมือนกับการลงทุนระยะยาวถ้าเราตั้งใจทำมันไม่ทิ้งมันตั้งแต่เนิ่นๆ ในอนาคตจะไม่ส่งผลเสียแน่นอน”
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand หรือแฟนเพจ NSTDA SPACE Education