วันที่ 21 ก.ค.64 เวลา 19.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ได้รับแจ้งจากทางประชาสัมพันธ์ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ทางสำนักงานสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา ไม่มีการรายงานถึงยอดจำนวนของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มเติมในพื้นที่ เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเวลาในการตัดยอดการรายงานจำนวนผู้ป่วยใหม่ เพื่อให้ตรงกันกับตัวเลขของ ศบค.กลาง ในเวลา 18.00 น. ในแต่ละวัน และจะนำออกมารายงานในเวลา 09.00 น.ของวันพรุ่งนี้ จึงทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ตรงกันกับตัวเลขของผู้ป่วยเมื่อวานนี้ โดยมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อใหม่ (20 ก.ค.64) คือ 396 รายแยกเป็นผู้ป่วยเพิ่มในจังหวัด 327 ราย ผู้ป่วยในแคมป์คนงานภายใต้การควบคุม 61 ราย ผู้ป่วยจากนอกจังหวัด 8 รายทำให้มีผู้ป่วยสะสมจากการระบาดระลอกใหม่ทั้งสิ้น 8,989 รายเป็นผู้ป่วยในเรือนจำ 2,598 รายผู้ป่วยทั่วไปภายนอก 6,391 ราย เสียชีวิต 43 รายในเรือนจำ 2 ราย นอกเรือนจำ 41 ราย
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานถึงแผนการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หลังการปิดเมืองล็อคดาวน์พื้นที่ ระหว่างวันที่ 20 ก.ค.64- 2 ส.ค.64 ว่า นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นพ.มณเทียร คณาสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา พ.อ.เฉลิม เนียมช่วย รอง ผอ.กอ.รมน. ได้เปิดเผยข้อมูลในระหว่างพูดคุยผ่านรายการผู้ว่าพบประชาชน ซึ่งจัดโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ฉะเชิงเทรา วานนี้ว่า ทาง จ.ฉะเชิงเทรา กำลังเร่งดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ในช่วงระหว่างการล็อคดาวน์พื้นที่ จนอาจทำให้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ จึงขอให้ประชาชนอย่าตกใจ เนื่องจาก จ.ฉะเชิงเทรา มีประชากรจำนวน 7 แสนคนจาก 2 แสนครัวเรือน และยังมีประชากรแฝงอีกประมาณ 3 แสนคน จึงทำให้มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านคน ที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดที่จะใช้วัดและโรงเรียนเป็นสถานที่รวมผู้ป่วยในชุมชน หรือเป็นศูนย์พักคอยคอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาประมาณ 10 แห่ง แต่ที่ผ่านมาได้ถูกชาวบ้านต่อต้าน เหตุจากเกรงกลัวจะมีการนำเชื้อเข้ามาสู่ชุมชน ซึ่งขอยืนยันว่าจะไม่มีการนำเชื้อไปแพร่กระจายลงสู่ชุมชน เนื่องจากจะมีการกั้นพื้นที่เป็นโซนเซฟตี้ และมีหลักการทางด้านสาธารณสุขเป็นมาตรฐานรองรับ และอย่าได้รังเกียจเพื่อนบ้านที่ติดเชื้อ แต่ยังคงพักอาศัยเพื่อทำการรักษาอยู่ในบ้าน ตามรูปแบบโฮมไอโซเลชั่นสำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเพื่อลดภาวะเตียงขาดแคลนในพื้นที่
อีกทั้งที่ผ่านมาทาง จ.ฉะเชิงเทรา ได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอ จัดตั้ง รพ.สนามใต้ร่มพระบารมี ซี่งขณะนิ้มีการหาพื้นที่จัดตั้ง รพ.สนามได้แล้วจำนวน 20 แห่งใน 8 อำเภอ โดยสามารถเปิดรับคนไข้ได้แล้ว จำนวน 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ใน อ.พนมสารคาม 1 แห่ง ที่มหาวิทยาลับราชภัฏราชชนครินทร์ (ศูนย์หัวไทร) อ.บางคล้า 1 แห่ง ส่วนที่โกดังท่าเรือสินค้าเทกองใน อ.บ้านโพธิ์ คาดว่าอีกประมาณ 4 วัน จะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้อีก 1,200 เตียง โดยทั้งหมดจะใช้ในการรองรับผู้ป่วยสีเขียว หากมีอาการหนักเป็นสีเหลืองหรือแดง จะใช้ รพ.ประจำอำเภอ และ รพ.เขต ประจำจังหวัด เช่น รพ.พุทธโสธร ในการรักษา แต่ยังต้องการศูนย์พักคอยและ รพ.สนามในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
นายไมตรี กล่าวอีกว่า นอกจากการเตรียมจัดหาจุดพักคอย หรือ คอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น และ รพ.สนาม ให้ได้มากที่สุดแล้ว ยังต้องการจัดหาศูนย์พักฟื้นไว้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้วด้วย โดยหากผู้ป่วยได้รับการรักษาจนหายดีแล้วและไม่มีอาการ จะได้ให้ไปพักรออยู่จนครบกระบวนการรักษาก่อนกลับบ้าน ซึ่งอันนี้คือแผนของ จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากที่ผ่านมา ได้มีคนจากนอกจังหวัดที่มีการตรวจพบเชื้อใน รพ.เอกชน และรู้ว่าตนเองติดเชื้อแล้ว โดยได้ใช้วิธีการเดินทางเข้ามาตรวจหาเชื้อซ้ำยังในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเข้ามาทำการรักษาในพื้นที่ตามกฎตรวจพบแล้วต้องทำการรักษา ทั้งจากใน จ.สมุทรปราการ และ กทม. ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยใน จ.ฉะเชิงเทรา และเชื้อไม่ได้มีการแพร่ระบาดภายในจังหวัด นอกจากนี้ยังมีที่เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ที่มีการติดเชื้อและป่วยมากถึง 2,600 คน ซึ่งขณะนี้หยุดการระบาดแล้วเหลือผู้ป่วยเพิ่มอีกเพียง 2 รายเท่านั้น
ขณะที่ นพ.มณเทียร คณาสวัสดิ์ นายแพทย์ สสจ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยถึงสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ที่กำลังระบาดอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราว่า กว่าครึ่งหนึ่งที่พบเป็นเชื่อโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า ในการควบคุมโรคจึงได้เน้นไปที่การลงพื้นที่ไปทำสวอป ตรวจหากลุ่มผู้ติดเชื้อเชิงรุก เพื่อให้มีการตรวจพบเชื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากสามารถทำการควบคุมโรคได้รวดเร็วเท่าใด จะสามารถป้องกันการแพร่กระจายได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น โดยเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามีอาการที่รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม การรักษาจึงได้พยายามที่จะทำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด โดยสถานที่มีความเสี่ยงสูงในขณะนี้ ยังอยู่ภายในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก และอีกส่วนหนึ่ง คือ แคมป์คนงาน โดยจะพยามตรวจหาเชื้อให้ได้วันละประมาณ 2-3 พันคน นพ.มณเทียร กล่าว