กทม.แถลงสรุปสถานการณ์โควิด เพิ่มทีมเร่งค้นหา-แยกผู้ติดเชื้อ 2,016 ชุมชน ก่อนสิ้นก.ค.นี้ โฆษกกทม.เผยผู้ว่าฯอัศวิน สั่งหาวัคซีนเพิ่มทุกช่องทางที่ทำได้           21 ก.ค.2564 เวลา 14.00 น.  ร.ต.อ.พงศกร  ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย แถลงข่าว Online สรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ร.ต.อ.พงศกร  ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กทม.วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 2,500 คน ซึ่งลดลงจากช่วงพีคที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อ 3,000 กว่าคน มีคลัสเตอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ รวม 105 คลัสเตอร์ ซึ่งการเพิ่มมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ออกมาจะเห็นผลใน 14 วัน โดยใน 14วันนี้ กรุงเทพมหานครจะเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อให้เร็ว และแยกผู้ติดเชื้อออกมาเข้าสู่ระบบการรักษา โดยจัดทีมเขิงรุกพยายามตรวจค้นหาถึงบ้านให้มากที่สุด รวมถึงตั้งศูนย์พักคอยฯ ให้การรักษาเชิงปฐมภูมิ จ่ายยารักษา และมีเครื่องให้ออกซิเจน พร้อมทั้งเพิ่มเตียงทั้ง เขียว เหลือง แดง ด้านพญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า มาตรการที่เพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายของคน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อของโควิด-19 กรุงเทพมหานครโดยสำนักอนามัยเร่งออกหน่วยเชิงรุก ทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก Comprehensive Covid-19 Response Team (CCRT) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน ให้คำแนะนำและตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ถ้ามีผลเป็นบวกจะจ่ายยาให้ และเข้าสู่ระบบแยกกักตัวที่บ้าน(HI : Home Isolation) หรือนำไปศูนย์พักคอยฯ มีแพทย์ติดตามอาการ หากอาการหนักเป็นเหลือง แดง จะส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลต่อไป จากข้อมูลศูนย์บริการสาธารณสุขกทม. 69 ศูนย์ ขณะนี้มีผู้ป่วยในระบบ HI แล้ว 1,500 คน นอกจากค้นหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดและแยกออกจากชุมชน ทีมตรวจเชิงรุกยังฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรค โดยได้ขยายทีมเชิงรุก 69 ศูนย์ เป็นศูนย์ละ 2 ทีม รวม 138 ทีม และยังมีเครือข่ายอาสาร่วมด้วย อาทิ อว. ส่งอาสาร่วม 76 ทีม กรมควบคุมโรคร่วม 15 ทีม และอาสาจากสภากาชาดไทยเข้าร่วมด้วย ซึ่งจะเร่งตรวจเชิงรุกชุมชนให้ครบ 2,016 ชุมชนในกรุงเทพฯ ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ขณะที่ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวถึงการเพิ่มศักยภาพเตียงรักษาผู้ป่วยโควิด-18 ได้เพิ่มเตียงเหลืองและแดง ในโรงพยาบาลหลัก ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน รวมถึงโรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ด้วย ในส่วนศูนย์พักคอยฯ ขณะนี้มี 50 ศูนย์ และในแผนอีก 3 แห่ง ที่รับผู้ป่วยไม่มีอาการ ระดับเขียว จะมีการปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนาม 1 ศูนย์ใน 1 กลุ่มเขต รับผู้ป่วยเหลือง แดง ได้เพิ่ม ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้วมีผลบวก ติดเชื้อและมีอาการรุนแรง ต้องการเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งต้องตรวจซ้ำยืนยันผลด้วย RT-PCR จะมีรถตรวจใน 6 กลุ่มเขต อำนวยความสะดวก สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขต ในช่วงท้ายโฆษกกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร ว่า เดิมมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้คนกรุงเทพฯ ตามที่แจ้งได้รีบวัคซีน 5 ล้านโด๊ส ใน 2 เดือน แต่มีปัญหาวัคซีนไม่มาตามกำหนด ซึ่งกรุงเทพมหานครทำตามคำสั่ง ศบค. ให้เร่งฉีดวัคซีนใก้กบุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค โดยจัดสรรวัคซีนให้กับโรงพยาบาลฉีดให้กลุ่มหมอพร้อมและเร่งฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคก่อน ซึ่งขณะนี้ฉีดได้เกือบ 50% แล้ว เชิญชวนให้ผู้สูงอายุ บุตรหลายพาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ลงทะเบียนผ่านระบบไทยร่วมใจ และรับการฉีดวัคซีนที่ 25 จุดฉีดนอกโรงพยาบาลของกทม. หรือ โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ได้ทันที ทั้งนี้ จำนวนวัคซีนสำหรับฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุยังมีเหลือ ต่อไปจากนี้จะฉีดให้ประชาชนทั่วไปคู่ขนานกัน ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนผสมสูตร กรุงเทพมหานครยังไม่มี โดยผู้ลงทะเบียนไทยร่วมใจไว้วันที่ 19-23 มิถุนายน 2564 ที่ถูกเลื่อน จะได้รับการฉีดวันนัดใหม่ วันที่ 22-26 กรกฎาคมนี้ ที่สุดแล้วกรุงเทพมหานครพยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ประสานจัดหาวัคซีนทั้งการจัดสรร และการจัดซื้อ