ความเห็นต่างทางอุดมการณ์ จะไม่มีทางสร้างความขัดแย้งได้เลย หากทุกฝ่ายเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน โดยไม่แตกแยก แต่ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้ ข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นโดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำลายภาพลักษณ์ ลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม โดยกลุ่มคนที่เรียกว่า “อันธพาลไซเบอร์” ทั้งที่จัดตั้งรับจ้างมา หรือจุดประสงค์ส่วนตัว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยตัวเลขจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในช่วง 9 เดือน ระหว่าง 1 ต.ค.63 ถึง 30 มิ.ย. 64 พบสิ่งที่น่าตกใจว่า คนไทยโพสต์ข่าวปลอมถึง 5.8 แสนคน และแชร์ข่าวปลอมกว่า 20 ล้านคน กลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวกว่าร่อยละ 90 อยู่ในช่วงอายุ 18-43 ปี โครงการโคแฟค หรือ Collaborative Fact Checking ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมไทยที่ต้องการสร้างพื้นที่กลางที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ในการหาความจริงร่วมกันจึงได้เกิดขึ้น โดยมีที่มาจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวันที่เชื่อในพลังภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร โคแฟค ได้รวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นเท็จที่อันธพาลไซเบอร์มักใช้ในการสร้างขยะในโลกออนไลน์ไว้หลายคำ อาทิ Fake News หรือ “ข่าวลวง” คือ ข่าวที่ถูกสร้างขึ้น ปรับแต่งให้คล้ายกับเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือและดึงดูดความสนใจ หรืออาจจะเพื่อหวังผลจากรายได้จากการโฆษณาข่าว หรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือน Hoax หรือ “การหลอกลวง” คือ การกระทำที่หลอกหรือลวงผู้อื่น เพื่อให้คิดว่าสิ่งนั้นถูกหรือสิ่งนั้นเป็นจริง ทั้งที่จริงแล้วมันไม่จริง Disinformation หรือ “การบิดเบือนข้อมูล” เป็นการสร้างข้อมูลเท็จโดยเจตนา เป็นการกระทำที่หลอกลวง เป็นการโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อในความไม่จริงนั้น Misinformation หรือ ข้อมูลเท็จที่ถูกเผยแพร่ออกไปจากคนที่เชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นจริง เป็นต้น จากการวิจัย 1 ปี ของโคแฟคเพื่อหาข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาข่าวลวงอย่างยั่งยืน ซึ่งเผยแพร่ใน Cofact Journal Issue 3/2021 ในช่วงเดียวกับการเก็บข้อมูลของดีอีเอส พบว่า ร้อยละ 97 ของประชาชนเจอข่าวลวงป่วน และคนใกล้ชิดนี่เองที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวลวง อีกทั้ง ข่าวลวงมักจะวนกลับมาซ้ำๆ ในโซเชียลระบบปิด ในรายงานของโคแฟคยังระบุอีกด้วยว่า สาเหตุที่ข่าวลวงวนซ้ำในประเทศไทย ร้อยละ 29 มาจากการสื่อสารในแอพลิเคชั่นระบบปิด หรือในกลุ่มปิด ซึ่งไม่มีการตรวจสอบ ร้อยละ 28 มาจากความมีอคติต่อประเด็นเนื้อหาข่าวทำให้เชื่อหรือไม่เชื่อโดยขาดการตรวจสอบ ร้อยละ 26 ขาดความร่วมมือจากบางแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่นขึ้นคำเตือน หรือลบเนื้อหา ร้อยละ 17 เกิดจากความเกรงใจ เมื่อผู้ส่งข่าวที่น่าสงสัยว่าจะเป็นข่าวลวง มีความอาวุโสกว่า หรือมีฐานะทางสังคมสูงกว่า ทำให้ไม่กล้าเตือนหรือตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกัน ข่าวลวงแบบไหนที่น่ากังวลมากที่สุด โคแฟคพบว่า ร้อยละ 37 คือข้อมูลที่กระทบต่อสุขภาพชีวิต ร้อยละ 19 คือข้อมูลที่หวังผลประโยชน์ทางการค้า หรือทำให้เสียทรัพย์สิน ร้อยละ 16 คือข้อมูลที่มาจากการจัดตั้งในลักษณะไอโอ และข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดแนวทฤษฎีสมคบคิด ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ข่าวปลอม ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่การเผยแพร่ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณซึ่งผู้คนกำลังเผชิญอยู่ในยุคของสื่อดิจิทัลทำให้มันเป็นความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีการอภิปรายเป็นจำนวนมากทั่วโลกเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ อะไรทำให้ประชาชนทั่วไปแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ โดยไม่มีการตรวจสอบ และทำไมข้อมูลที่ผิดกระจายไปทั่วเครือข่ายส่วนตัวและสาธารณะ “ข่าวปลอมนั้นมาจากสองรูปแบบ แบบแรกคือ โซเชียลมีเดียแบบสาธารณะ โดยใช้แฟลตฟอร์มอย่าง Facebook Twitter Instagram Tiktok เป็นต้น และแบบที่สองคือ โซเชียลมีเดียแบบส่วนตัว โดยใช้แฟลตฟอร์ม เช่น Line Telegram สิ่งที่น่าสนใจคือการส่งต่อข่าวปลอมจะมีการส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียแบบส่วนตัวมากกว่าโซเชียลมีเดียแบบสาธารณะ ทำให้การที่จะตรวจสอบนั้นทำให้เกิดได้ยาก และการส่งต่อข่าวปลอมจะมีการส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียแบบส่วนตัวมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าโซเชียลมีเดียแบบสาธารณะ เนื่องจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้ส่ง และผู้รับสารนั้นๆ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือว่าข่าวสารนั้นเป็นเรื่องจริง” ผศ.ดร.สิงห์ ได้ยกตัวอย่างข่าวปลอมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของโคแฟคที่บอกว่า เรื่องที่กระทบกับสุขภาพและชีวิตเป็นประเด็นที่น่าห่วงที่สุด โดยกล่าวว่าหากภาครัฐไม่มีความชัดเจนในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับประชาชน ก็จะมีข่าวลือ ข่าวปลอมออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งจากความคิดเห็นส่วนตัวที่อาจจะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ แต่มีการถูกแชร์ต่อออกไปเป็นจำนวนมากทำให้ทุกคนคิดว่านั้นเป็นข้อมูลจริง เพราะผู้ใช้โซเชียลมีเดียสามารถเป็นผู้นำเสนอเนื้อหาได้ด้วยตนเอง และก็จะมีคนไม่น้อยหลงเชื่อเพราะคิดว่าเป็นผู้ใช้งานจริงเป็นประสบการณ์จริง “สื่อสังคมออนไลน์มีการจัดอัลกอริทึมที่ทำให้ผู้ใช้งานเห็นแต่ข้อมูลที่สนใจและมีความชื่นชอบ ทำให้เกิดจิตวิทยาหมู่ในการเชื่อในเรื่องนั้นๆ โดยไม่มีข้อสงสัย เพราะคิดว่าโลกออนไลน์มีข้อมูลมากมายทำไมถึงเห็นแต่ข้อมูลนั้นๆ ที่ตนเองเชื่อตลอดเวลาทำให้ผู้ใช้งานเชื่ออย่างปักใจว่าเรื่องเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง คุณสมบัติเครือข่ายของโซเชียลมีเดีย หรืออัลกอริทึมมีการจัดอันดับเพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้งาน ตามเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อความ สิ่งที่น่าสนใจคือ ข่าวปลอมแพร่กระจายเร็วกว่ากว้างกว่าข่าวจริง มีหลายปัจจัยเนื้อหาข้อมูลใหม่ของข่าวปลอมสามารถดึงดูดความสนใจ เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการแพร่กระจาย การแสดงออกของอารมณ์” ผศ.ดร. สิงห์กล่าว ในฐานะนักวิชาการด้านการสื่อสาร ผศ.ดร.สิงห์ ยังแนะนำการตรวจสอบข่าวลวงข่าวปลอมอย่างง่าย คือ การตรวจสอบความผิดปกติของข้อมูล รวมไปถึงการตรวจสอบการสะกดคำ หรือข้อผิดพลาดทางภาษา และการตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อหาและภาพ รวมทั้งวันเวลาในการเผยแพร่ข้อมูลนั้นๆ ด้วย “บทความที่เก่าอาจไม่มีข้อเท็จจริงที่ทันสมัย และการเผยแพร่การส่งต่อบทความที่เก่าในช่วงเวลาปัจจุบันนั้น อาจพบว่าข้อมูลบางอย่างได้รับการพิสูจน์หรือหักล้างว่าความจริงคืออะไร อาจเป็นบทความที่ต้องปรับปรุง เนื้อหาที่ถูกเปลี่ยนใหม่มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดความรับผิดชอบที่จุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของบทความ” ขณะที่ งานวิจัยของโคแฟค เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาข่าวลวงในประเทศไทยไว้ เป็น 5 ระดับ คือระดับบุคคล ด้วยการปรับความคิดตนเอง เสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ระดับชุมชน โดยการสร้างกลชุมชนให้มีเครื่องมือในการตรวจสอบข่าวลวง ระดับประเทศ ด้วยการมีฐานข้อมูลที่คุณภาพ และโปร่งใส สร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในระดับชาติ ระดับโครงสร้าง ต้องส่งเสริมให้มีหลักสูตรความรู้เท่าทันสื่อในทุกระดับ และทุกระบบ สื่อมวลชนต้องร่วมตรวจสอบข่าวลวง และระดับค่านิยม/วัฒนธรรม โดยการลดอคติความเชื่อบางอย่าง สร้างวัฒนธรรมการสื่อสารความจริง การตรวจสอบข่าวลวง