ก้าวแรกอันยิ่งใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมหาศาลทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่สะท้อนถึงความศักยภาพของมนุษยชาติหากมุ่งมั่นย่อมไม่เกินเอื้อม พร้อมกับเริ่มหมายตา จากดวงจันทร์ เป้าหมายหน้า ดาวอังคาร
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ครบรอบ 52 ปี ยานอะพอลโล 11 นำมนุษย์เหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969
#ดวงจันทร์ ดาวบริวารเพียงดวงเดียวของโลก เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์เดินทางไปเยือนตั้งแต่อดีต สะท้อนให้เห็นผ่านนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีมานับร้อยปี เช่น นิยายเรื่อง De la terre à la lune (From the Earth to the Moon) ในปี ค.ศ. 1865 ของ Jules Verne นักเขียนชาวฝรั่งเศส กล่าวถึงการเดินทางไปดวงจันทร์ของมนุษย์สามคน ด้วยยานลักษณะเหมือนลูกกระสุนที่ถูกส่งขึ้นไปด้วยปืนใหญ่ขนาดยักษ์
เมื่อมนุษย์ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1957 ตามด้วยการส่งมนุษย์เข้าสู่วงโคจรรอบโลกในปี ค.ศ. 1961 สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างโซเวียตกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นกระตุ้นการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีดวงจันทร์กลายเป็นเป้าหมายสำคัญ ส่งผลให้เกิดโครงการอวกาศต่าง ๆ เพื่อปูพื้นฐานสู่การส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ได้แก่
1) การพัฒนาจรวดขนาดใหญ่ (จรวด Saturn V ของสหรัฐฯ กับจรวด N1 ของโซเวียต)
2) การส่งยานหุ่นยนต์หลายลำเพื่อเก็บข้อมูลทำแผนที่ดวงจันทร์ ทดสอบการลงจอด และเก็บตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ส่งกลับมายังโลก เช่น โครงการ Ranger โครงการ Lunar Orbiter โครงการ Surveyor ของสหรัฐฯ และโครงการ Luna ของโซเวียต เป็นต้น
3) การส่งมนุษย์ไปดำรงชีวิตในอวกาศเป็นเวลาสั้น ๆ เช่น โครงการ Vostok และโครงการ Voskhod ของโซเวียต โครงการ Mercury และโครงการ Gemini ของอเมริกา
ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 จอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ปราศรัยต่อประชาชนชาวอเมริกัน หาเสียงสนับสนุน #โครงการอะพอลโล เพื่อส่งมนุษย์อวกาศชาวอเมริกันไปดวงจันทร์ให้สำเร็จ ด้วยประโยคเด่นว่า “เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์” (We choose to go to the Moon)
เมื่อโครงการอะพอลโลได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลและประชาชน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา (NASA) ได้รับงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับงบประมาณถึง 4.4% ของงบประมาณแผ่นดินในปี ค.ศ. 1966 และมีจำนวนบุคลากรชาวอเมริกันในโครงการมากถึงราว 400,000 คน
แม้โครงการอะพอลโลจะเผชิญกับความผิดพลาดครั้งใหญ่อย่างอุบัติเหตุเพลิงไหม้ในยานอะพอลโล 1 ระหว่างการทดสอบจนต้องสูญเสียนักบินอวกาศถึงสามคน แต่การส่งยานอะพอลโล 8 และ 10 พร้อมนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ก็เป็นไปอย่างราบรื่น จนกระทั่ง #ยานอะพอลโล11 พร้อมนักบินอวกาศชาวอเมริกัน 2 คนสามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 (ตามเวลาประเทศไทย)
นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) มนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบลงบนดวงจันทร์ ได้กล่าวว่า “ก้าวเล็ก ๆ ของคน ๆ หนึ่ง แต่เป็นก้าวอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” (That’s one small step for a man, one giant leap for mankind) ถือว่าไม่เกินจริงนัก แม้เวลาผ่านไป 52 ปี นับจากการลงจอดของยานอะพอลโล 11 “ดวงจันทร์” ยังคงเป็นสถานที่เดียวในอวกาศที่มนุษย์สามารถเดินทางไปถึง
โครงการอะพอลโลยังก่อให้เกิดความก้าวหน้ามหาศาลทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่
1) การถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ระหว่างที่ยานอะพอลโลโคจรรอบดวงจันทร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์จัดทำแผนที่ดวงจันทร์ได้ละเอียดยิ่งขึ้น
2) การเก็บตัวอย่างหินและดินบนดวงจันทร์จากโครงการอะพอลโลรวมกันว่า 382 กิโลกรัม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาคุณสมบัติทางองค์ประกอบและแร่ของพื้นผิวดวงจันทร์ได้ดีขึ้น
3) เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ได้จากการพัฒนาในโครงการอะพอลโล เช่น
- การออกแบบรถสำหรับให้มนุษย์ขับขี่บนดวงจันทร์ (Lunar Rover)
- การออกแบบระบบจรวด
- ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้ในการบินและอวกาศ
- การสื่อสารโทรคมนาคมทางไกล
- ระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ไมโครชิพในคอมพิวเตอร์ มาจากการพัฒนาแผงวงจรรวมในระบบนำทางของยานอะพอลโล หรือก้านบังคับควบคุม (Joystick) ได้จากคันบังคับรถ Lunar Rover
- อาหารและเครื่องดื่มสำหรับบริโภคในอวกาศ รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการเก็บรักษา เช่น อาหารแห้งแช่แข็ง เป็นต้น
- เทคโนโลยีทางวัสดุศาสตร์ เช่น สภาพทนต่อการขีดข่วน (Scratch Resistant) ที่ใช้กับหน้าเลนส์กล้องถ่ายภาพในปัจจุบัน พัฒนามาจากกระจกหน้าหมวกชุดนักบินอวกาศ
4) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงการส่งมนุษย์ไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศของนาซา ที่ยังปฏิบัติงานอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) และศูนย์อวกาศกอดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) เป็นต้น
การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ส่งผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงอื่น ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และมนุษย์เริ่มหมายตาเพื่อนบ้านเป้าหมายต่อจาก “ดวงจันทร์” เป็น “ดาวอังคาร” ซึ่ง “ก้าวอันยิ่งใหญ่ก้าวถัดไปสู่ดาวอังคาร” นั้นจะก่อให้เกิดการพัฒนาขนานใหญ่แบบครั้งโครงการอะพอลโลหรือไม่ ต้องคอยติดตามกันต่อไป