นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการพักชำระหนี้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารออมสินตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้กลุ่มที่เป็นลูกค้ารายย่อย จึงออกมาตรการพักชำระหนี้ สูงสุด 6 งวด (พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ยากลำบาก ซึ่งจากฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประเมินว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่มีสิทธิ์พักหนี้ตามมาตรการนี้ ในจำนวนมากถึงกว่า 750,000 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) โดยพักเงินงวดผ่อนชำระให้สูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม 2564 หลังจากนั้นเมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักไว้ จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคาร ทั้งนี้ช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใด ๆ โดยธนาคารแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่มเฟสแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 และเฟสที่สองช่วงเดือนสิงหาคม ลูกค้าจะทยอยได้รับ SMS หรือ Notification แจ้งทางแอป MyMo ให้สามารถกดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอป MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กรณีที่ลูกค้ายังไม่มีแอป สามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานด้วยตนเอง หรือ ติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขา สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรการพักชำระหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารออมสินประกาศให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อาทิ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่ทางราชการประกาศให้ปิดกิจการ (ให้สิทธิ์พักชำระหนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง) (2) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ประเภทกิจการร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ (3) มาตรการมหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และ (4) มาตรการแก้หนี้ สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด ของ COVID-19