นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ได้รวบรวมภารกิจที่หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความช่วยเหลือประชาชนและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ การใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนในสังกัดเพื่อจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation Center – CIC) เพื่อเป็นสถานที่ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยการแยกตัวผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ให้ได้รับการดูแลเบื้องต้น และรอการจัดหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากบ้านพักอาศัยและชุมชน ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายและคำสั่งการจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในหลายพื้นที่ ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือผู้ที่มารับบริการฉีดวัคซีนยังศูนย์ฯต่าง ๆ พร้อมทั้งรับทราบปัญหา และความต้องการของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย รวมทั้งนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้มอบเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและให้กำลังใจบุคลากรของ ศธ. ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยทุกภาคส่วนร่วมมือกันเป็นอย่างดี
ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งหนังสือให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตแจ้งไปยังสถานศึกษาในสังกัด ติดตามการเคลื่อนย้ายของบุคคลที่กลับภูมิลำเนาที่อยู่ใกล้กับสถานศึกษา โดยประสานกับอาสาสมัครสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในพื้นที่ ให้ตรวจสอบบุคคลที่เคลื่อนย้ายมาในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับตรวจสอบว่ามีนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวหรือเป็นญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงและเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดได้ ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หยุดอยู่บ้านและเรียนทางออนไลน์แทน พร้อมกันนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนและสังคม ให้สถานศึกษาร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาที่ไม่ได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแล้ว จัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามได้ หรือหากเป็นสถานศึกษาที่ไม่ได้จัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน เมื่อมีคำร้องขอใช้อาคารสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนาม ให้ทางสถานศึกษาร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนามได้ พร้อมกับรายงานให้ทาง สพฐ. ทราบ ซึ่งมีจำนวนของเขตพื้นที่การศึกษา ที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว ตามคำร้องขอของจังหวัด รวม 51 เขต แบ่งเป็น สพป. 38 เขต สพม. 12 เขต สศศ. 1 เขต จำนวนโรงเรียน 231 โรง 2 ค่ายลูกเสือ
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ส่งหนังสือให้ประธานกรรมการอาชีวศึกษาภาคทุกภาค สำรวจสถานศึกษาในสังกัดที่ใช้พื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักตัว หน่วยตรวจคัดกรอง หน่วยฉีดวัคซีน เพื่อให้บริการสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 14 แห่ง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้แจ้งสถานศึกษาในสังกัดให้ประสานความช่วยเหลือ พร้อมรายงานข้อมูลหากมีสถานศึกษาที่จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยในชุมชน เพื่อรายงานไปยัง ศบค.ศธ. โดยของ กศน. มีจำนวนสถานศึกษาที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว จำนวน 46 แห่ง ในส่วนของ สช. นั้น กำลังรวบรวมข้อมูลของสถานศึกษาที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว
นอกจากนี้ ยังมีสถานศึกษาที่ให้การสนับสนุนสถานที่ในการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ เป็นสถานที่ให้บริการตรวจหาเชื้อ COVID-19 เชิงรุกด้วยรถพระราชทาน และยังให้บริการสถานที่จอดรถสำหรับผู้มารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID – 19 ของโรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. จนถึงปัจจุบันและต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ยังให้การสนับสนุนสถานที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนให้แก่ชุมชนเขตราชเทวี และผู้บริหาร บุคลากรของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบสิ่งของ หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดให้กับโรงพยาบาลสนามโรงเรียนบ้านกองแหะ จ.เชียงใหม่ อีกด้วย