"ประธานหอการค้าไทย" ห่วงล็อกดาวน์ 14 วันเอาไม่อยู่ รัฐบาลต้องขยายล็อกดาวน์เพิ่ม ชี้ทำเศรษฐกิจเสียหายหนักทะลุ 1.2 แสนล้านบาท แนะกู้เงินเพิ่มเยียวยา ขณะที่"รัฐบาล"แถลงคลอดมาตรการเร่งช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ เน้นธุรกิจที่ถูกสั่งปิดให้ยืนได้ ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เมื่อวันที่ 19 ก.ค.64 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยมีความเป็นห่วงสถานการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด และล่าสุดขยายเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด รวมเป็น 13 จังหวัด คือ อยุธยา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สายการผลิตเพื่อการส่งออก เพราะสิ่งที่กังวลคือรัฐบาลต้องแยกผู้ติดแยกออกมาให้ได้ และเร่งกระจายการฉีดวัคซีนควบคู่ไปกับการเยียวยา โดยหากดูตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลจะต้องขยายล็อกดาวน์เพิ่มมากกว่า 14 วัน ทั้งนี้ ผลต่อภาคเศรษฐกิจหากมีการขยายล็อกดาวน์ออกไปมากกว่า 14 วัน ย่อมมีผลกระทบหนักอยู่แล้ว โดยล่าสุดหอการค้าประเมินความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเบื้องต้น คาดว่า จะเพิ่มจากเดิมที่ประมาณไว้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน เป็นวันละ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อวัน ถ้าคำนวนผลกระทบ 1 เดือน ก็จะประมาณ 90,000-120,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากผลกระทบเดิม ดังนั้นการเยียวยาเท่าที่ออกมาก่อนหน้านี้คงไม่พอ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การล็อกดาว์น มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนลดการเคลื่อนย้ายจริง ต้องมีมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ในช่วงนี้ เงินกู้ที่เตรียมไว้ 500,000 ล้านบาท จำเป็นต้องนำมาเร่งใช้ในช่วงนี้ หรือภายในไตรมาส 3 และหากไม่พอรัฐบาลก็สามรถกู้เพิ่มเติมได้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนจะกู้เพิ่ม 7 แสนล้านบาท แต่กู้เพิ่มล่าสุด 5 แสนล้านบาท ก็ยังมีกรอบที่จะดำเนินการเพิ่ม "สิ่งที่ต้องเร่งทำคือการหาแยกผู้ติดเชื้อและฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นมาตรการสาธารณสุขที่ต้อวทำควบคู่ไปกับการเยียวยาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในแง่จีดีพีปีนี้ก็ไม่รู้ว่าจะบวกได้หรือเปล่า ซึ่งจะมีการติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนพื้นที่ที่มีการปิดเพิ่มเติม 3 จังหวัดก็อยากให้เร่งคัดแยกและฉีดวัคซีน เพราะเป็นพื้นที่ภาคการผลิตที่มีผลต่อการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้" นายสนั่น วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าใจถึงผลกระทบจากการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้เร่งประสานหน่วยงานทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางโดยเร็ว ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ทั้งที่เป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง ในสถานประกอบการที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการหรีอตามคำสั่งของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาระยะเวลา 2 เดือนนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 นี้เป็นต้นไป สถาบันการเงินที่เข้าร่วมครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ไทย ต่างประเทศสถาบันและการเงินเฉพาะกิจ (Non-bank) รวมทั้งชมรมผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต จำนำทะเบียนรถ ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท รวมถึงหนี้บัตรเครดิตของลูกหนี้ SME และลูกหนี้รายย่อย ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 ก.ค. เป็นต้นไป โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า มาตรการพักชำระหนี้ คือการเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยเหลือระยะสั้น มุ่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ทั้งที่ถูกสั่งปิดกิจการ รวมถึงผู้ประกอบการที่ยังเปิดกิจการ แต่ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง ด้วยการหยุดภาระในการจ่ายหนี้เป็นการชั่วคราว ช่วยลูกหนี้ให้ประคับประคองธุรกิจไปสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งลดการเป็นหนี้เสียในอนาคต อย่างไรก็ตาม การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ ยังคงแนะนำให้ชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินอยู่ในขณะนี้ ก็ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า นอกจากนี้ ทางธปท. ได้ออกมาย้ำว่าการที่สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 2 เดือนในงวด ก.ค. - ส.ค. 2564 นั้น เป็นการให้ลูกหนี้ไม่ต้องชำระเงินต้น และดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งสถาบันการเงินต้องห้ามไปเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักชำระไว้จากลูกหนี้หลังพ้น 2 เดือนนี้แล้วทันที แต่ให้ทยอยเรียกเก็บเงินจำนวนนี้ หรือเรียกเก็บในช่วงท้ายของสัญญา พร้อมยืนยันว่า การพักชำระหนี้ 2 เดือนนี้ จะไม่ถือว่าลูกหนี้มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ และไม่เป็นหนี้ค้างชำระในเครดิตบูโรแต่อย่างใด ซึ่งสถาบันการเงินจะไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในการผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะยังถือว่าเป็นหนี้ดีอยู่ "การพักชำระหนี้ เป็นเพียงมาตรการเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ ธปท. และสถาบันการเงินร่วมกันช่วยลูกหนื้ที่ฐานะทางการเงินอ่อนแอ ยืดเวลา ชะลอภาระทางการเงินเป็นการชั่วคราว สอดคล้องกับนโยบาลรัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะคนตัวเล็ก ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มทื่ในช่วงเวลานี้ ให้ยังพอรักษาและดำเนินกิจการได้ต่อไป ในขณะที่ยังต้องมีการจำกัดกิจกรรม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกระยะหนึ่ง" นายอนุชา ฯ กล่าว