เผยเป็นภาวะแทรกซ้อนพบบ่อยสุด 5-15% และมีโอกาสเป็นถาวรในอนาคตเกือบ 50% แนะคุมอาหาร ออกกำลังกายจำเป็น
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตรวจพบครั้งแรกขณะตั้งครรภ์โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยรู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานมาก่อน เกิดจากรกสร้างฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่ฮอร์โมนเหล่านี้มีผลทำให้ฮอร์โมนของมารดาเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น จึงทำให้เกิดเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จะมีระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ ระยะหลังคลอดส่วนใหญ่ระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับสู่ภาวะปกติ ถ้าติดตามผู้ป่วยไปนานๆ พบว่ามีโอกาสเป็นโรคเบาหวานในอนาคต 30-50% แต่สามารถป้องกันได้ โดยควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน และออกกำลังกายเสมอ
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถีกล่าวว่า อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์เหมือนอาหารคนตั้งครรภ์ทั่วไป คือ 3 มื้อ และเพิ่มอาหารว่างอีก 3 มื้อในผู้ป่วยรูปร่างผอม ถ้าผู้ป่วยรูปร่างอ้วนควรรับประทานอาหาร 3 มื้อหลัก งดอาหารว่างหรืออาจมีมื้อก่อนนอนเพียงเล็กน้อย แต่ที่สำคัญคือปริมาณอาหารต่อวัน และจำนวนคาร์โบไฮเดรต (แป้ง น้ำตาล และผลไม้) ควบคุมให้เหมาะสม เลี่ยงของหวาน เพิ่มอาหารมีกากใย เพิ่มวิตามินที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก โฟลิก แคลเซียม
ส่วนการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นสำคัญ เพราะจะช่วยลดภาวะดื้อยาต่ออินซูลิน ทำให้ความต้องการยาอินซูลินในการควบคุมน้ำตาลน้อยลง จำเป็นต้องออกกำลังกายทุกรายถ้าไม่มีข้อห้าม เช่น ความดันโลหิตสูง ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร ชนิดของการออกกำลังกาย ไม่ควรเป็นไปเพื่อลดน้ำหนักแต่อาจเป็นการเดินหลังอาหารแต่ละมื้อ ว่ายน้ำ หรือบริหารร่างกายส่วนบน วันละ30 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพผู้ป่วยแต่ละราย
ทั้งนี้ 14 พ.ย.ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก และคำขวัญวันเบาหวานโลกในปีนี้คือ “ผู้หญิงกับเบาหวาน” จึงอยากให้ทุกคนตระหนักและตรวจสุขภาพเป็นประจำรับแนวทางและคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดี