ด้วยคำมั่นสัญญาที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็น "A Promised Place to Live and Learn with Nature” หรือสถานที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตั้งแต่สมัยที่ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปีพ.ศ.2550 – 2554 จนเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 -ปัจจุบัน ก็ยังคงเจตนารมณ์เดิมที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลคงความเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งหน้าไปสู่การตอบโจทย์สังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ภายใต้ร่มของ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ และผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาการวิจัย การศึกษา และการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "Mahidol for Sustainable Future"
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เมื่อ10ปีก่อน ให้กลายเป็น "มหาวิทยาลัยสีเขียว" อันดับหนึ่งของประเทศไทย5ปีซ้อนจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลกUI Green Metricประเทศอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบันว่า เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนภาคภูมิใจว่า มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากจะมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติแล้ว ยังคำนึงถึงความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักด้วย
ซึ่งการทำให้เกิด "Change" หรือ "ความเปลี่ยนแปลง" ต้องอาศัย "Trust" หรือ "ความเชื่อถือ" ด้วยการ "คิดนอกกรอบ" และ "ลงมือทำให้เห็นจริง" จึงเป็นที่มาของการมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งในระดับองค์กร ประเทศชาติและสังคม
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลท่านปัจจุบัน ที่ได้ต่อยอดแนวคิดของการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยการประกาศนโยบายใหม่ "Eco & Sustainabiliy Policy" หรือ "นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่อันดับTOP50 มหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3ด้านได้แก่ Sustainable Growth เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนSustainable Resources เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และSustainable Society เพื่อการสร้างสังคมอย่างยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง เชื่อว่า โลกในยุคปัจจุบันหมุนตามเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างความต้องการเกินจำเป็นจนขาดสมดุล ซึ่งจะไปสร้างภาระ รวมทั้งเบียดเบียนทรัพยากรของคนรุ่นหลัง ด้วยหลักของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามศาสตร์พระราชาเท่านั้น จะเป็นทางออกเดียวที่ช่วยแก้ไขเยียวยาปัญหาความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นได้
หลักการสำคัญของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยเมื่อปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกรจามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ริเริ่มจัดเสวนาออนไลน์สำหรับสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลักดันการศึกษาไทยสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลกในอันดับที่ดีขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน ซึ่งจากการจัดเสวนาออนไลน์เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน โดยวิทยากรจากUI Green Metric เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่ามีส่วนผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยได้เข้าใจถึงเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก นำสู่การเกิดการพัฒนา จนทำให้จำนวนกว่าครึ่ง หรือร้อยละ62 สามารถขึ้นสู่อันดับ200 - 800ของมหาวิทยาลัยสีเขียวโลกได้
มาในปีพ.ศ.2564นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาออนไลน์ "The 2nd National Workshop of UI Green Metric for University in Thailand" ต่อไป โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกรได้แสดงมุมมองถึงตัวชี้วัดของUI Green Metricว่า ต่อไปจะไม่ได้เน้นแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จะมุ่งไปถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือSDGsแห่งสหประชาชาติ ที่ตอบโจทย์สังคม เศรษฐกิจ การสร้างความร่วมมือ และสันติสุขมากขึ้นด้วย ซึ่งการจัดอันดับไม่สำคัญเท่ากับความมีศักยภาพ มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์สามารถติดตาม Facebook Live ได้ในวันที่ 23ก.ค.64 ระหว่างเวลา 09.00 – 11.30 น. ที่เพจMahidol University Sustainability
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล