ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 ก.ค. 64 ที่สำนักงานกสทช. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ผอ.ศปก.ศบค.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการสื่อสารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค , นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค , นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ , นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. , พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะผู้บริหารสื่อมวลชนหลายสำนัก เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติในการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังคำติติงและคำถามจากสื่อมวลชน โดยความสำเร็จในการบริหารสถานการณ์โควิดจะต้องได้ความร่วมมือจาก 4 ส่วน คือ ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน โดยวันนี้ต้องการมารับฟังมากกว่าพูด และสื่อมวลชนทำหน้าที่ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจ จึงจะก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้ พร้อมกันนั้นยังยืนยันว่า โครงสร้างการทำงานของ ศบค. ยังประกอบด้วยหลายภาคส่วน นอกจากนี้ พล.อ.ณัฐพล ยังยืนยันว่า โครงสร้างการทำงานของ ศบค. ทำงานด้วยร่วมมือกันทุกภาคส่วน
พล.อ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกำหนดฉบับที่ 28 ที่ประกาศออกมาล่าสุดนั้น จำเป็นที่ต้องต้องปรับให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการระบาดที่แพร่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นขอความเห็นใจ ที่บางครั้งอาจจะกระชั้นชิด และอาจทำให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วนจุดมุ่งหมายของข้อกำหนดฉบับที่ 28 ต้องการให้ชะลออัตราการรุนแรงของโรค โดยหยุดยั้งการกระทำใดๆ ที่เป็นความเสี่ยง พร้อมยอมรับว่า การระบาดระลอกปัจจุบัน ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อในทุกระดับ ไม่ว่าจะจากที่ทำงาน ครอบครัว ระหว่างเดินทาง ร้านอาหาร หรือในทุกกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน
"ถามว่า ทำไมเราไม่ใช้มาตรการคุมเข้มตั้งแต่ต้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลห่วงใยความเดือดร้อนประชาชน เราจึงต้องดำเนินการแบบค่อยไปค่อยไป เพื่อให้ประชาชนปรับตัวกับมาตรการต่างๆ ได้ แม้ว่าขณะนี้บางคนพูดว่า มาตรการไม่เห็นแตกต่างจากเดิม แต่เพราะเขาเริ่มคุ้นแล้ว นี่คือเจตนารมณ์ที่เราไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ” พล.อ.ณัฐพล กล่าว
พล.อ.ณัฐพล กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการครั้งนี้ที่เน้นไปที่ 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้เน้นใช้คำว่า เลี่ยง จำกัด หรือ งดเว้น เพื่อให้หน่วยงานรับไปปฏิบัติได้ แต่ไม่สามารถใช้คำว่า สั่งห้ามได้ เพราะหากประกาศไปแล้วหน่วยปฏิบัติทำงานไม่ได้ ก็จะมีปัญหาตามมาอีก โดยคาดหวังว่า จะได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนและเอกชน อย่างน้อย 14 วัน ส่วนการทำงานที่บ้าน กฎหมายมีสภาพบังคับได้เฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น จึงขอความร่วมมือภาคเอกชนในช่วงเวลานี้ให้ช่วยปฏิบัติตามเพื่อลดการเดินทางด้วย
พล.อ.ณัฐพล กล่าวย้ำว่า สำหรับการตั้งด่านตรวจ ตามข้อกำหนดฉบับใหม่นั้น ประชาชนยังสามารถเดินทางเคลื่อนย้ายในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้ โดยหน่วยงานด้านความมั่นคง จะตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัด บริเวณเส้นทางคมนาคม ที่เน้นไปที่เส้นทางเข้าออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น เส้นทางที่มุ่งหน้าไปภาคใต้ ก็จะมีการตั้งด่านตรวจที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น
“สาระสำคัญของมาตรการครั้งนี้ เราพยายามจำกัดการเดินทาง ลดจำนวนการเคลื่อนย้าย โดยจะมีการประเมินสถานการณ์รายวัน อย่างกรณีตลาดสด เราจะทดลองให้เปิดไปก่อน แม้ว่าแพทย์จะเป็นห่วงว่าอาจเกิดการระบาด แต่ในทางกลับกันเราก็ห่วงว่าจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นจะดูเป็นพื้นที่ไป ถ้าเสี่ยงที่ไหนก็ปิดเป็นแห่งๆ หรือหากประเมินแล้วภาพรวมมีความเสี่ยงก็จะพิจารณาปิดเป็นลำดับถัดไป” พล.อ.ณัฐพล กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทั่วโลกในขณะนี้จะเห็นได้ว่า หลายประเทศที่เคยมีตัวเลขผู้ป่วยลดลง เริ่มกลับมามีผู้ป่วยสูงขึ้นอีกครั้ง เช่น อังกฤษ อิสราเอล หรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนา รวมถึงไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่คาดว่าจะผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเดินทางกลับจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ข้อมูลในปัจจุบันยังพบว่า ผู้เสียชีวิตมากกว่า 70% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จึงเป็นเหตุให้มีการปรับแผนฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ก่อน
“วิธีป้องกันที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการลดกิจกรรมไม่ให้คนใกล้ชิดกัน และพากลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปฉีดวัคซีน รวมถึงจะมีการคัดกรองผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อแยกตัวออกไปรักษาต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงตอบคำถามสื่อมวลชน นพ.โอภาส ยอมรับในข้อติติงเกี่ยวกับปัญหาการสื่อสารด้านการกระจายวัคซีน พร้อมยืนยันยันว่า ปัจจุบันยังมีวัคซีนเข้ามาตามแผนเดิมคือ มิ.ย. 6 ล้านโดส ส่วน ก.ค. จะมี 10 ล้านโดส โดยขั้นตอนการจัดหาวัคซีน ยังมีนโยบายชัดเจนที่จะจัดหาให้ได้ 100 ล้านโดสสำหรับสิ้นปี 2564 โดยปัจจุบันมีการนำเข้าวัคซีนและตรวจรับแล้ว 17 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 9 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 8 ล้านโดส ดำเนินการฉีดแล้วมากกว่า 14 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการกระจาย ส่วนพื้นที่ กทม.ที่มีการปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง ขณะนี้ฉีดผู้สูงอายุแล้ว 7 แสนราย และคาดว่าจะฉีดครบ 1 ล้านรายตามเป้าหมายในไม่ช้า ทั้งนี้ยืนยันว่า ภายในเว็บไซต์กรมควบคุมโรคมีข้อมูลที่จะอ้างอิงในการจัดหาวัคซีนทั้งหมด รวมถึงยุทธศาสตร์วัคซีนในไทย
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์จะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อ จำนวน 20 ล้านโดสในวันที่ 19 ก.ค.2564 จากนั้นจะมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อขอจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดสด้วย นอกจากนั้นยังมีการเจรจาวัคซีนอื่น เช่น โนวาแวกซ์ ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาค 1.5 ล้านโดส จะมาถึงประเมศไทยในวันที่ 29 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อวัคซีนยังมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ง่ายนัก และหลายเรื่องยังต้องยอมให้กับบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากเป็นการซื้อในช่วงภาวะฉุกเฉิน เช่น ระบุวันส่งไม่ได้ หรือ ปรับเงินไม่ได้หากไม่มีการส่งตามแผน เป็นต้น
นพ.โอภาส กล่าวยอมรับว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่ได้ลดลง และยังคงมีมาตรการเพื่อควบคุมการระบาดต่อไป แต่ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เหตุการณ์จะดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการสูงสุด โดยสิ่งที่เราต้องการคือให้ทุกคนอยู่บ้าน ไม่ต้องทำอะไร เหมือนกรณีอู่ฮั่นโมเดล คือ อยู่บ้าน แล้วมีคนส่งข้าวส่งน้ำให้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือในภาพรวมมีผู้ป่วยเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะรับไหวหรือไม่
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนครึ่งปี 2564 นั้น ในช่วงไตรมาส 3 ยังคงเน้นย้ำไปที่มาตรการทางสังคมมากกว่า ส่วนวัคซีนจะเริ่มเห็นผลช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ซึ่งช่วงนั้นเชื่อว่าเราจะได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นด้วย และคาดว่าสถานการณ์โควิดจะจบ เมื่อเราฉีดวัคซีนได้มากพอ ดังนั้นช่วง 1-2 เดือนนี้ เป็นช่วงที่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ในการปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัด
ด้านอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ฉายคลิปวีดีโอ การรักษา Home Isolation ว่า มีจำนวนครองเตียง 14,000 คน ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ผู้ป่วยสีเขียวกับ สีเขียวอ่อน 77-78% ทำ Home Isolation และ Community Isolation โดยขณะนี้คาดว่ามีคนป่วยรอที่บ้านอีกนับหมื่นคน สำหรับตัวเลขเสียชีวิตแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ Home Isolation เป็นมาตรการที่สำคัญมาก โดยจะเน้นไปที่กลุ่มที่อยู่ระหว่างรอแอดมิดที่โรงพยาบาล , กลุ่มที่แพทย์ที่พิจารณาว่ารักษาที่บ้านได้ รวมถึงกลุ่มที่รักษาที่โรงพยาบาลไปแล้ว 7-10 วัน และแพทย์เห็นว่าอาการไม่หนัก ก็สามารถส่งตัวกลับไปรักษาที่บ้านได้ ทั้งนี้เชื่อว่าจะช่วยลดจำนวนการครองเตียงในโรงพยาบาลได้ โดยผู้ป่วยที่จะแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า บุคลากรในโรงพยาบาลหลัก โรงเรียนแพทย์ ค่อนข้างตึง จึงขอให้ชุมชนเข้ามามีสวนร่วม เราพยายามทำ Home Isolation และ Community Isolation รวมถึงจัดเตรียม โควิด แคร์เซ็ต เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วย ทั้งนี้ ไตรมาส 4 สถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้น ช่วงนี้ยันสถานการณ์ไว้ ไม่ให้พุ่งขึ้น ช่วง 1-2 เดือนนี้วิกฤตที่สุดที่ต้องขอความร่วมมือ