วันที่ 18 ก.ค. 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง มาตรการเยียวยาแก้ปัญหาโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานครโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,101 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจมีดังนี้ ...
เมื่อถามถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการช่วยเหลือประชาชนจากรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 รับรู้มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนหลากหลายช่วงโควิด-19 เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ สินเชื่อโควิดสู้ภัย ม.33 โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ฯลฯ ในขณะที่ ร้อยละ 2.8 ไม่เคยทราบเลย ร้อยละ 93.7 ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ นโยบายที่ชัดเจนเรื่องเยียวยา / การพักชำระหนี้ การกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการอนุญาตให้กลับมาประกอบกิจการ การต่อรองเจ้าของพื้นที่ ลดค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 92.8 เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง การส่งออก บัตรสวัสดิการ เราชนะ เรารักกัน ยิ่งใช้ยิ่งได้ การท่องเที่ยว ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นต้น ร้อยละ 90.7 มีความหวังให้การช่วยเหลือของรัฐบาลเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทั่วถึง เดือดร้อนอยู่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เช่น เกษตรกร ช่วยพยุงราคาพืชผล ลดต้นทุนการผลิต กระจายสินค้าการเกษตร รับซื้อผลผลิต เป็นต้น
นอกจากนี้ร้อยละ 90.2 เห็นด้วยกับมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ เช่น สินเชื่อโควิดสู้ภัย พักชำระหนี้ ม.33 มาตรการเยียวยา 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐบาล ลดค่าน้ำค่าไฟ ร้อยละ 86.9 ต้องการให้รัฐบาลเปิดพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาคอื่น ๆ ได้ด้วยควบคู่ควบคุมโรคเข้มข้นสูงสุด มากกว่าภาคการท่องเที่ยวที่เปิดได้ ร้อยละ 80.5 ต้องการให้เปิดพื้นที่พิเศษกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องเพิ่มเติมควบคู่ควบคุมโรคเข้มข้นสูงสุด เช่น แหล่งท่องเที่ยวเกาะสมุย เกาะพงัน น่าน เชียงใหม่ เป็นต้น
ขณะที่ ร้อยละ 98.5 ต้องการให้มีจุดตรวจโควิด-19 ฟรี เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว ได้ผลถูกต้องแม่นยำเป็นธรรมเพื่อจำแนกแยกผู้ติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อ ร้อยละ 98.1 ต้องการให้มีมาตรการรัฐบาลที่ดีช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รักษาตัวที่บ้าน ร้อยละ 95.2 ต้องการให้รัฐบาลให้ความชัดเจนปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชน เรื่องวัคซีน การป้องกัน รักษาและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการเยียวยาโดยง่ายไม่สับสน ร้อยละ 94.4 ต้องการให้ประชาชนดูแลตัวเองเคร่งครัดให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ร้อยละ 94.1 ต้องการให้รัฐบาลช่วยภาคการศึกษา นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา การลดค่าเทอม การลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา การให้เงิน เยียวยาค่าอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์การเรียน อย่าตัดงบเด็กยากจนพิเศษ และร้อยละ 91.1 เห็นด้วยกับ มาตรการสาธารณสุข เช่น เปิดทางให้เอกชนมีวัคซีน จัดหาวัคซีน บริการวัคซีน เป็นธรรมทั่วถึง รวดเร็ว ไม่มีเส้นสาย
ที่น่าเป็นห่วงร้อยละ 98.1 กังวล การรวมตัวชุมนุมทางการเมือง ม็อบ แหล่งแพร่เชื้อโควิด เกิดคลัสเตอร์โควิดใหม่ซ้ำเติมวิกฤตชีวิตประชาชน ร้อยละ 94.4 หวัง ประชาชนทุกคนช่วยประคับประคองบ้านเมือง ไม่ซ้ำเติมความแตกแยกของคนในชาติ ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ร้อยละ 93.2 ยังรอคอยเห็นการลงโทษตามกฎหมายกลุ่มคนก่อเหตุโควิด ระลอก 3 และร้อยละ 89.3 กังวลฝ่ายการเมือง เอาเรื่องโควิด-19 หาผลประโยชน์ทางการเมือง บิดเบือนข้อมูล สร้างความเกลียดชัง เลือกข้างแบ่งฝ่าย เกิดแตกแยกในสังคม
ดร.นพดล กล่าวว่า จากผลสำรวจนี้ ชี้ให้เห็นน้ำหนักใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ 2. มาตรการของรัฐบาลด้านการควบคุมโรค และ 3. มาตรการของรัฐบาลด้านการเมือง โดยประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ถึง มาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้เป็นจำนวนมาก โดยมาตรการแรก คือ มาตรการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน สะท้อนจากกลุ่มต่างๆที่ไม่ควรมองข้าม เช่น กลุ่มอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ที่อาจจะอยู่นอกประกันสังคม เช่น ร้านตัดผมเสริมสวย ร้านนวดแผนโบราณ กลุ่มคนรับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น ที่สมควรได้รับการเยียวยาในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การให้เงินชดเชย การพักชำระหนี้ การให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เป็นภาระต้นทุนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาล สมควรออกแบบพัฒนาระบบให้กลุ่มอาชีพต่างๆ มีช่องทางเข้าถึงได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน
"มาตรการด้านการควบคุมโรคที่รัฐบาลออกมานั้น ความต้องการของประชาชนสูงสุด เรื่อง การตรวจโควิด-19 ฟรี เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว ได้ผลถูกต้องแม่นยำ เป็นธรรม และมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมในการนำผู้ป่วยรู้ผลติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษ โดยเฉพาะการเยียวยาเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ผ่านชุดตรวจที่มีความแม่นยำสูงที่รัฐบาลสนับสนุนให้ ทั้งเป็นการผ่อนเบาภาระเจ้าหน้าที่และเร่งให้ประชาชนตรวจเชื้อค้นหากันเอง เพื่อร่วมกันหยุดการแพร่ระบาดในสถานการณ์วิกฤต ส่วนปัญหาสำคัญที่ประชาชนกังวลมากที่สุดคือ การรวมตัวชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มม็อบต่างๆ ซึ่งจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ของการ แพร่กระจายเชื้อโควิดที่ยากควบคุมและซ้ำเติมวิกฤตชีวิตที่ทุกข์ยากของประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งถือเป็นวิกฤตของชาติที่สำคัญ" ดร.นพดล กล่าว