NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ภาพริ้วเมฆสีรุ้งบนดาวอังคารจากรถสำรวจคิวริออซิตี โดย #รถสำรวจคิวริออซิตี (Curiosity Rover) เผยภาพริ้วเมฆคล้ายคลื่น ลอยตัวอยู่เหนือภูเขาเมาท์ชาร์ป (Mount Sharp) บนดาวอังคาร นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากในชั้นบรรยากาศที่แห้งแล้งของดาวอังคาร #ภาพแรก เป็นพาโนรามาของริ้วเมฆสีรุ้ง ถ่ายจากกล้อง Mastcam ประกอบขึ้นจากภาพจำนวน 5 เฟรม และถ่ายหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 5 มีนาคม 2564 หรือ 3,048 sol (ภารกิจวัน 3,048) บนดาวอังคาร #ภาพที่สอง ถ่ายจากกล้อง Mastcam หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 19 มีนาคม 2564 หรือ 3,063 sols (ภารกิจวัน 3,063) บนดาวอังคาร ภาพนี้ประกอบขึ้นจากภาพจำนวน 6 เฟรม ภาพและผ่านการปรับแก้สีเพื่อให้มองเห็นได้ง่าย #ภาพที่สาม เป็นภาพขาว-ดำ ที่ถ่ายจากกล้องนำทาง (Navigation Cameras) ถ่ายหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือ 3,075 sols (ภารกิจวัน 3,075) บนดาวอังคาร #ภาพที่สี่ เป็นภาพขาว-ดำ ที่ถ่ายจากกล้องนำทาง (Navigation Cameras) ถ่ายหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 28 มีนาคม 2564 หรือ 3,072 sols (ภารกิจวัน 3,072) บนดาวอังคาร ปกติแล้ว เมฆจะเกิดได้ยากในชั้นบรรยากาศที่เบาบางและแห้งแล้งของดาวอังคาร แต่จะพบเมฆได้ที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคารในช่วงฤดูหนาว หรือในตำแหน่งที่ดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในรอบปี และมักจะมีความสูงไม่เกิน 60 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทีมควบคุมรถสำรวจคิวริออซิตีพบการก่อตัวของเมฆ ซึ่งถือว่ามาก่อนกำหนดที่คาดการณ์ไว้ จึงได้เตรียมการสำรวจเพื่อวิเคราะห์ผล พบว่า กลุ่มเมฆเหล่านี้ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งที่ก่อตัวสูงกว่าระดับความสูงปกติ จึงคาดว่าเกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในสถานะของแข็ง หรือน้ำแข็งแห้งที่มีความเย็นจัด อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์จะยังคงศึกษากลุ่มเมฆเหล่านี้เพื่อหาระดับความสูงที่แน่นอน เพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งนอกจากกลุ่มเมฆเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ แล้ว ยังแสดงให้เห็นภาพริ้วเมฆสีรุ้งที่เกิดจากกระเจิงแสงจาง ๆ ของดวงอาทิตย์ในช่วงสนธยา ที่เรียกว่า “น็อกติลูเซนต์ (Noctilucent)” (เป็นภาษาลาติน แปลว่า เมฆเรืองแสง) อีกด้วย เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/.../nasa-s-curiosity-rover-captures..."